ผู้รู้มักอยู่อย่างซ่อนตัว

ผู้รู้มักอยู่อย่างซ่อนตัว

 

 

                ท่านฤาษีไผ่ คือตัวอย่างของผู้รู้ที่ซ่อนตัวอยู่ในสังคมอย่างเงียบๆ แม้จะมีคุณธรรมภายในที่ทรงคุณวิเศษชั้นสูงมีอภิญญาจิต  แต่ก็ใช้ชีวิตอย่างสันโดษไม่ยอมแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้คนต้องหลั่งไหลคลั่งไคล้เคารพกราบไหว้บูชา

 

                ท่านปู่ฤาษีไผ่(คำไถ่) คือผู้รู้ที่ซ่อนเร้นอภิญญาและคุณวิเศษอันสูงกว่าครูบาอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงอีกมากมาย  แล้วจึงมาแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ตอนตาย เพื่อดำรงศรัทธาพระศาสนาในขณะที่ผู้คนกำลังเสื่อมศรัทธาต่อพระสงฆ์และไม่มีที่พึ่งทางจิตใจ  เพื่อให้ผู้คนได้เกิดความอบอุ่นใจว่าพระพุทธศาสนานี้ยังคงความสูงส่งและประเสริฐอยู่เสมอไม่เสื่อมคลาย จนกว่าพระพุทธศาสนาจะมีอายุครบ ๕,๐๐๐ ปี

 

                ฤาษีไผ่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อพิบูลย์  วัดพระแท่นบ้านแดง อำเภอพิบูลย์รักษ์  จังหวัดอุดรธานี

 

                 สำหรับหลวงพ่อพิบูลย์นั้น  คนในแถบภาคกลางหรือในถิ่นอื่นอาจจะไม่ค่อยรู้จัก แต่สำหรับคนในมณฑลอุดรและภาคอีสานเมื่อก่อนนั้น  จะเป็นที่ทราบกันดีว่าหลวงพ่อพิบูลย์คือพระผู้ทรงอภิญญาสำเร็จธรรมออกมาจากป่าเพื่อมาตั้งวัดตามคำสั่งของครูบาอาจารย์ เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสมากของประชาชนโดยทั่วไป

 

               ต่อมาเนื่องจากท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจและพาชาวบ้านสร้างถนนหนทาง สร้างความเจริญต่างๆมากมายให้แก่ท้องถิ่น  ท่านริเริ่มตั้งธนาคารโคกระบือให้ชาวบ้านผู้ยากจนนำไปใช้สอย  เป็นที่พึ่งทั้งในด้านอภินิหารต่างๆ  จึงถูกกลั้นแกล้งใส่ความจากเจ้าคณะผู้ปกครองและฝ่ายบ้านเมืองว่าท่านเป็น “ผีบุญ” แล้วจับท่านไปคุมขังไว้เพื่อแยกท่านออกจากชาวบ้าน

 

               ในภาคเหนือ มีพระผู้ทรงอภิญญาเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแล้วถูกพระฝ่ายปกครองกลั่นแกล้งใส่ความโดยอาศัยกฎหมายตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คือท่านครูบาศรีวิชัย  ส่วนในภาคอีสาน ก็มีพระผู้ปฏิบัติดีและทรงคุณธรรมสูงถูกกลั่นแกล้งโดยอาศัยกฎหมายคือหลวงพ่อพิบูลย์และมีอีกหลายรูปด้วยกัน  ถ้าจะใช้คำให้ทันสมัยแบบสมัยนี้ ก็เรียกว่าเป็นพระภิกษุผู้เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาและเป็นพระผู้ปฏิบัติดีแต่ “ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง”

 

                หลวงพ่อพิบูลย์ถูกคุมขังและทรมานต่างๆโดยหาความผิดอะไรท่านไม่ได้   มีอยู่ช่วงหนึ่งทางฝ่ายบ้านเมืองนำท่านไปกักขังที่เกาะสีชัง  จังหวัดชลบุรี  ท่านถูกจับใส่กรงไปถ่วงน้ำ  ๗ วัน ๗ คืน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่คิดว่าท่านคงตายแล้วจะไปนำศพขึ้นมา  กลับปรากฏว่าท่านไม่เป็นอะไรเลย  นอกจากไม่เป็นอะไรแล้ว แม้แต่จีวรของท่านก็ไม่เปียกน้ำ  เจ้าหน้าที่ต่างพากันตกใจกลัวจนตัวสั่น  จนข้าหลวงเมืองชลบุรีสมัยนั้นเกิดความเลื่อมใส ท่านถูกขังอยู่ ๓ ปี ข้าหลวงจึงดำเนินการให้ท่านกลับบ้านเกิดเมืองอุดรธานีตามความประสงค์ของท่าน

 

              เมื่อท่านได้กลับไปอุดรธานี  ก็พาศรัทธาญาติโยมพัฒนาความเจริญและอนุเคราะห์เกื้อกูลสั่งสอนญาติโยมไปจนกระทั่งวาระสุดท้าย  และทำการประชุมเพลิงสรีระของท่านไปเมื่อวันที่ ๒๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๐๔

 

              ต่อมาทางราชการและประชาชนได้ตั้งชื่ออำเภอแห่งนั้นขึ้นใหม่ว่า “อำเภอพิบูลย์รักษ์” อันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุดรธานีเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านมาจนทุกวันนี้

 

           ฤาษีไผ่ในสมัยตอนเป็นหนุ่มได้บวชเป็นพระภิกษุเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อพิบูลย์  แต่ด้วยความที่ครูบาอาจารย์ถูกกลั่นแกล้งด้วยเรื่องอันไม่เป็นจริง  ได้เห็นความไม่เที่ยงของชีวิตและสรรพสิ่ง  หลังจากหลวงพ่อพิบูลย์ละสังขารไป  ท่านได้ลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตครอบครัวอยู่ระยะหนึ่ง  ต่อมาได้อุปสมบทใหม่แล้วได้ไปศึกษาธรรมะกับหลวงปู่สำเร็จลุนแห่งประเทศลาว จนได้ธรรมะเป็นเครื่องอุ่นใจสำหรับท่านนับแต่บัดนั้น

 

           ด้วยความที่ท่านได้มองเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของลาภยศสรรเสริญและความมีชื่อเสียงนับตั้งแต่สมัยท่านยังเป็นหนุ่มสมัยอยู่กับหลวงพ่อพิบูลย์  เห็นความไม่เป็นสาระของศรัทธาญาติโยมซึ่งใจของปุถุชนย่อมหาความแน่นอนไม่ได้

 

           ดังนั้นแม้ท่านมีธรรมะและทรงอภิญญาจิตสูงส่งเพียงใด  ท่านก็พอใจที่จะหลบซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆแล้วอาศัยอยู่กับลูกศิษย์ในสำนักเล็กๆที่คนไม่ค่อยสนใจและไม่ค่อยรู้จัก  มีความสุขกับฌานสมาบัติโดยไม่ต้องมีภาระในการแสดงธรรมและการอบรมสั่งสอนผู้คน รวมทั้งไม่ต้องมีภาระในการรับแขกอีกด้วย

 

           ในบั้นปลายของชีวิตท่านมองเห็นว่าแม้การโกนหัวนุ่งห่มจีวรแบบพระภิกษุ  ก็ยังเป็นภาระและยังต้องสาละวนกับการที่มีคนมากราบมาไหว้  เวลา ๙ ปีในช่วงสุดท้ายแห่งการทรงสังขารท่านจึงปล่อยให้ผมยาวไปตามธรรมชาติ แล้วถือเพศเป็นฤาษีชีไพรเพื่อที่ผู้คนทั้งหลายจะได้เลิกสนใจ  เพื่อที่จะได้ทรงสมาธิอันยิ่งใหญ่ฟอกธาตุขันธ์ให้บริสุทธิ์

 

              ธรรมดาของผู้บรรลุพระอรหันต์  ถ้าเป็นสุกขวิปัสสโกหรือพระอรหันต์ที่ท่านต้องมีภาระแสดงธรรมและต้องมีการพัฒนาความเจริญซึ่งต้องคลุกคลีกับผู้คนหรือปุถุชนมากมาย  ท่านไม่มีเวลาฟอกธาตุขันธ์  เมื่อท่านดับขันธ์นิพพานไป  บางท่านอัฐิก็ไม่กลายเป็นพระธาตุ

 

            ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเตือนพุทธบริษัทไว้ว่า “ไม่พึงตัดสินความเป็นพระอรหันต์ด้วยการมีอัฐิเป็นพระธาตุเสมอไป” เพื่อที่จะไม่หลงไปปรามาสพระอริยบุคคลหรือพระอรหันต์บางประเภทด้วยความไม่รู้  ท่านจึงสอนให้กราบผ้าเหลืองเพื่อป้องกันไว้จนกลายมาเป็นประเพณี

 

           ปู่ฤาษีไผ่  ได้อยู่อย่างซ่อนเร้นครองเพศเป็นฤาษี ไม่นำอภิญญาออกมาแสดงให้ใครต้องหลั่งไหลไปหาท่าน อันเป็นอุปสรรคต่อการเจริญฌานสมาบัติเพื่อฟอกธาตุขันธ์ในชีวิตอันเป็นบั้นปลายเมื่ออายุประมาณ ๑๐๐ ปี

 

          สุดท้ายเมื่อลูกศิษย์ถามว่าจะจัดการเกี่ยวกับศพของท่านอย่างไร  ท่านได้บอกว่า “อย่าเผาและอย่าฝัง จะได้ไม่ต้องอายเขา” ลูกศิษย์จึงเก็บศพท่านไว้ตามประเพณีและตามคำสั่งของท่าน

 

            เวลาผ่านไป ๑๑ เดือน เมื่อเปิดดูศพของท่าน  กลับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่สรีระของท่านไม่มีการเน่าเปื่อยแม้แต่น้อย  ผู้คนทุกสารทิศต่างหลั่งไหลพากันไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างไม่ขาดสาย สมกับที่วาจาสิทธิ์ของท่านก่อนจะทิ้งสังขารว่า “อย่าเผาและอย่าฝัง จะได้ไม่อายเขา” เพราะนี้คือการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อการรักษาพระศาสนา

 

          เมื่อลูกศิษย์ทั้งหลายได้ปฏิบัติตามคำของครูบาอาจารย์ ก็ได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่และโด่งดังไปทั่วประเทศไทย  ไม่ต้องอายใครทั้งโลกสมกับวาจาสิทธิ์ของท่านจริงๆ

 

          มีผู้รู้อีกมากมายที่ท่านซ่อนตัวอยู่กับโลกแบบปู่ฤาษีไผ่  ท่านเหล่านั้นมักเป็นผู้ทรงอภิญญาและทรงคุณวิเศษ แต่เนื่องจากไม่มีเหตุและไม่ใช่วาสนาที่จะแสดงตัว  ท่านก็ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆไม่แสดงคุณวิเศษภายในให้ใครล่วงรู้  นี้คือวิสัยของผู้รู้และผู้ทรงคุณธรรมอันสูงส่งอย่างแท้จริง

 

            พยัคฆ์ร้ายมักซุ่มซ่อนตัวอยู่ในขุนเขาพนาป่าทึบ ฉันใด พระอรหันต์หรือผู้รู้ทั้งหลายมักพอใจในชีวิตที่เรียบง่ายและซ่อนตัวอยู่ในที่สงบเงียบเป็นอุปนิสัย ฉันนั้น

 

             สิ่งนี้คือกฎเกณฑ์ธรรมดาของผู้รู้ทั้งหลาย ที่ท่านไม่มีเหตุปัจจัยต้องมาเกื้อกูลหรือข้องเกี่ยวกับผู้คนตลอดมาตั้งแต่อดีตจวบจนสมัยปัจจุบัน

 

 

                                                                              คุรุอตีศะ

                                                                     ๗  พฤศจิกายน  ๒๕๕๗