วันปิยมหาราช

วันปิยมหาราช

 


                     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชสมภพเมื่อวันที่  ๒๐ กันยายน  พ.ศ. ๒๓๙๖  เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในขณะที่มีพระชนมายุเพียง ๑๕  พรรษา


                   การขึ้นครองราชย์ของพระองค์แม้จะเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลอย่างสมบูรณ์ในฐานะ “เจ้าฟ้า” แต่ก็เต็มไปด้วยความหวาดหวั่นท่ามกลางอุปสรรคนานา ทั้งภัยจากภายนอกอันเกิดจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส  รวมทั้งความง่อนแง่นไม่มั่นคงแห่งราชบัลลังก์ ซึ่งต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเหล่าเสนาบดีผู้ใหญ่ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในยุคนั้น


                   เราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน มักจะทราบกันแต่ว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลายด้าน  แต่น้อยคนจะทราบประวัติศาสตร์ในเชิงลึกไปกว่านั้นว่า ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้  ๓๒  พรรษา หลังจากครองราชย์ได้เพียง ๑๗ ปี  ประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันตกคือพม่าได้ประสบชะตากรรมอันเลวร้ายยิ่ง

 

                 อังกฤษได้ถอดถอนพระเจ้าธีบอผู้พ่ายแพ้ออกจากความเป็นกษัตริย์และเนรเทศไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี  ประเทศอินเดีย ถึง ๓๐ ปีจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ลงที่นั่น ทำให้ราชวงศ์คองบองแห่งราชอาณาจักรอังวะซึ่งปกครองพม่ามาถึง ๑๓๓  ปี ต้องสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ และทำให้พม่าไม่มีกษัตริย์มาจนถึงทุกวันนี้


                   เหตุการณ์ในประเทศพม่าที่ฝ่ายกษัตริย์และเสนาบดีตัดสินใจผิดพลาด ที่สำคัญผิดคิดไปทำสงครามกับอังกฤษ รวมถึงราชสำนักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระนางศุภยาลัต ซึ่งเสวยสุขอยู่แต่ในวังไม่เคยเสด็จออกจากกรุงมัณฑะเลย์  มักชอบแสดงอำนาจออกหน้าแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินทุกอย่างด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง โดยไม่รู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างแท้จริง ได้แต่ฟังคำของขุนนางพวกประจบสอพลอและแย่งความเป็นใหญ่กันในราชสำนัก จนราชวงศ์และประเทศต้องวิบัติล่มสลาย  ทำให้ทางสยามต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อการรักษาเอกราชไว้ให้ได้


                   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของไทยจึงเปลี่ยนพระราโชบาย  จากแทนที่จะต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งมีกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้  ซึ่งอาจทำให้มีชะตากรรมไม่ต่างกับพม่า  จึงทรงหันมาใช้กุศโลบายวิธีด้วยการแสดงความเป็นมิตรและใช้พระสติปัญญาไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาจนรักษาเอกราชไว้ได้


                 ผลจากการต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม อันเป็นปัญหาความเป็นความตายของชาติบ้านเมืองในยุคนั้น  ทำให้สยามต้องยอมสูญเสียดินแดนไปถึง  ๑๔ ครั้ง ดังนี้


               ๑. เสียเกาะหมาก (ปีนัง)               เมื่อ  ๑๑ ส.ค. ๒๓๒๙                   ๓๗๕  ตร.กม.


               ๒. เสียมะริด  ทวาย  ตะนาวศรี      เมื่อ  ๑๖ ม.ค. ๒๓๓๖             ๕๕,๐๐๐ ตร.กม.


               ๓. เสียเมืองบันทายมาศ                เมื่อ      พ.ศ. ๒๓๕๓


               ๔. เสียแสนหวี  เชียงตุง  เมืองพง    เมื่อ      พ.ศ. ๒๓๖๘               ๙๐,๐๐๐ ตร.กม.


               ๕. เสียรัฐเปรัก                              เมื่อ       พ.ศ. ๒๓๖๙


               ๖. เสียสิบสองปันนา                     เมื่อ  ๑  พ.ค. ๒๓๙๓               ๖๐,๐๐๐ ตร.กม.


               ๗. เสียแคว้นเขมรทั้งหมด              เมื่อ ๑๕ ก.ค. ๒๔๑๐            ๑๒๔,๐๐๐ ตร.กม.


               ๘. เสียแคว้นสิบสองจุไท                เมื่อ ๒๒ ธ.ค. ๒๔๓๑              ๘๗,๐๐๐ ตร.กม.


               ๙. เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน  ๑๓  เมือง
                                                                    เมื่อ  ๒๗ ต.ค. ๒๔๓๕            ๓๐,๐๐๐ ตร.กม.


              ๑๐. เสียดินแดนฝั่งซ้ายคือราชอาณาจักรลาว
                                                                     เมื่อ ๓ ต.ค. ๒๔๓๖            ๑๔๓,๐๐๐ ตร.กม.

 

              ๑๑. เสียดินแดนฝั่งขวาคือแคว้นหลวงพระบาง จำปาศักดิ์
                                                                         เมื่อ  ๑๒ ก.พ. ๒๔๔๖      ๖๒,๕๐๐ ตร.กม.


              ๑๒. เสียมณฑลบูรพา คือ เสียมราฐ  พระตะบอง  ศรีโสภณ
                                                                          เมื่อ  ๒๓ มี.ค. ๒๔๔๙     ๕๑,๐๐๐ ตร.กม.


              ๑๓. เสียกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปลิส    เมื่อ ๑๐ มี.ค. ๒๔๕๑       ๘๐,๐๐๐ ตร.กม.


              ๑๔. เสียเขาพระวิหาร                         เมื่อ  ๑๕ มิ.ย. ๒๕๐๕       ๒  ตารางกิโลเมตร


                      รวมดินแดนที่เสียไป จำนวน ๑๔ ครั้ง เป็นพื้นที่  ๗๘๒,๘๗๗  ตารางกิโลเมตร  ยังเหลืออยู่เป็นขวานทองตกทอดมาถึงพวกเราในปัจจุบัน  ๕๑๔,๐๐๐  ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

 


                     ด้วยเหตุที่สยามจำต้องยินยอมยกดินแดนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส  ซึ่งเป็นมหาอำนาจล่าเมืองขึ้นในสมัยนั้นเป็นเนื้อที่จำนวนมากมาย  ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีโทมนัสอันใหญ่หลวง พระองค์ถึงกับทอดอาลัยในชีวิตไม่ยอมเสวยพระกระยาหารหวังจะให้พระชนมชีพสิ้นไป ด้วยความเสียพระทัยว่าไม่สามารถรักษาราชสมบัติให้ยืนยงดังสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชและพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกผู้เป็นปฐมราชวงศ์


                   แต่ด้วยพระองค์ได้มิตรสหายในยามยาก คือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กราบทูลให้ข้อคิดแก่พระองค์ในครั้งนั้นว่า  “เมื่ออวัยวะแขนขาบางส่วนมีอันตราย ไม่สามารถรักษาไว้ได้  ก็ต้องยอมสูญเสียและสละไป  แล้วมุ่งรักษาชีวิตและร่างกายส่วนใหญ่ไว้ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำยิ่งแล้ว  ขอจงทรงรักษาชีวิตของพระองค์ไว้เพื่อเป็นหลักชัยให้สยามประเทศผ่านพ้นวิกฤติและอันตรายในครั้งนี้  เพื่อเห็นแก่อาณาประชาราษฎร์ที่หวังพึ่งพระบารมีอยู่มากมายด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ  ขอจงทรงเข้มแข็งและเสวยพระกระยาหารเถิดพระเจ้าค่ะ”


                   สมเด็จพระปิยมหาราชทรงได้พระสติด้วยคำกราบทูลนั้น  จึงทรงข่มความอัดอั้นและความขมขื่นทั้งปวงแล้วตั้งพระราชหฤทัยในการปกครองและบริหารบ้านเมือง ทรงปรับพระบรมราชวิเทโศบายใหม่ ใช้พระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพ ยอมรับเอาธรรมเนียมบางอย่างมาใช้ให้เหมาะแก่ยุคสมัย  ทำให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ในเมืองไทยและสร้างความเจริญหลายอย่างเท่าเทียมนานาอารยประเทศสืบมา ดังที่เราได้ทราบแล้วในวิชาประวัติศาสตร์


                  เรามักได้ยินกันมาเป็นส่วนมากว่า พระองค์ท่านทรงมีพระมเหสี สนมชายาหรือเจ้าจอมหม่อมห้ามจำนวนมาก  ในความเป็นจริงแล้วมิใช่พระองค์จะทรงเอาแต่ลุ่มหลงในอิสตรีดังที่คนมักเข้าใจเสียทีเดียวก็หาไม่  แต่ความเป็นพระมหากษัตริย์นั้นการมีมเหสีหรือสนมกำนัล บางทีก็เป็นเรื่องของการเมือง ที่จำต้องเอาราชธิดาของแคว้นนั้นหรือลูกสาวของตระกูลนั้นมาเป็นชายาผูกสายสัมพันธ์เพื่อความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง  ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปตามค่านิยมหรือตามธรรมเนียมแห่งยุคสมัย  ซึ่งพวกเราเกิดมาในสมัยนี้ยากจะทำความเข้าใจได้อีกแล้ว


                  พระองค์แม้ทรงมีมเหสีชายาเจ้าจอมจำนวนมาก แต่เมื่อทรงจะเสด็จประพาสยุโรปเพื่อกระทำสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจเป็นเวลาเกือบสามปี  พระองค์ก็กระทำพิธีปฏิญาณต่อหน้าคณะสงฆ์เถระว่า “ข้าพเจ้าจะไม่กระทำประเวณีหรือมีความสัมพันธ์ทางเพศกับสตรีใดในต่างประเทศจนกว่าจะกลับคืนมาสู่มาตุภูมิผืนแผ่นดินสยาม” พระองค์ก็ทรงสามารถทำได้ตามคำปฏิญาณซึ่งยากนักที่คนธรรมดาทั่วไปจะทำได้  นี้คือความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่


                 การมีพระมเหสีสตรีมากของพระองค์ จึงไม่ใช่การหมกมุ่นในกามารมณ์เพียงอย่างเดียวแบบที่คนสามัญทั้งหลายมักเข้าใจ  แต่ทรงมีความรักอันงดงามและมีพระสติในการครองตนของพระองค์ได้อย่างดีเยี่ยม ทรงมีพระเมตตาและใช้พระคุณมากกว่าพระเดช แม้จะทรงมีพระบรมเดชานุภาพเด็ดขาดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ไม่ทรงหักหาญน้ำใจของสตรีใด  นี้คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทรงเป็นที่ยำเกรงและเป็นที่รักโดยทั่วไป


               ลักษณะของคนเป็นกษัตริย์ จะมีอำนาจบารมีและมีวิสัยทัศน์บางอย่างต่างจากคนสามัญธรรมดามาก  ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเป็นที่รักเคารพและบูชาของเหล่าสตรีทั้งหลาย  มีพระบารมีแผ่ไพศาลเป็นที่ยำเกรงของประเทศมหาอำนาจและราชบริพาร  ทำให้ชาติไทยดำรงเอกราชมาได้ จึงทรงได้รับการสดุดีขนานนามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” มาเป็นเวลาถึงร้อยปีเศษแล้ว


                ประเทศไทยของเราในยามนี้  ก็ตกอยู่ในอันตรายหลายอย่างไม่ต่างกับรัชสมัยของพระองค์เท่าใดนัก  เรากำลังถูกมหาอำนาจทั้งใกล้และไกลมองประเทศไทยเหมือนหญิงสาวแสนสวยที่ต่างฝ่ายต่างพยายามจะมีอิทธิพลหวังครอบครองเป็นเจ้าของ


              ต้องมีสติและปัญญาอันแยบคายและไหวพริบปฏิภาณรู้เขารู้เราให้มาก  จึงจะนำรัฐนาวาไทยซึ่งกำลังลอยอยู่กลางทะเลเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัยและถึงจุดหมาย  ขอให้เราทั้งหลายจงตั้งใจบำเพ็ญทาน ศีล  ภาวนา เพื่อให้ผ่านพ้นอันตรายไปได้ดุจเดียวรัชสมัยของพระองค์


             ในรัชสมัยของพระองค์มีเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร เป็นผู้ทูลขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากรัชกาลที่ ๕ หลายสิ่งหลายเหตุการณ์ได้เกิดวิวัฒนาการเป็นลำดับมา  ซึ่งนับตั้งแต่ปีหน้าจึงจะเรียกได้ว่าเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยที่แท้จริง


            ขอให้เราทั้งหลายจงเตรียมตัวเตรียมใจเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน  แม้จะมีการเลือกตั้งก็จงรู้ว่าไม่ได้มีการหาเสียงเลือกตั้งอย่างสนุกสนานแบบเดิมกันอีกแล้ว  วิชารัฐศาสตร์การเมืองการปกครองที่เคยเรียนก็ต้องเปลี่ยนไป  เกิดวิวัฒนาการการปกครองรูปแบบใหม่ซึ่งเริ่มต้นที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก  ต่อไปภาษาไทยจะกลายเป็นภาษาสากลที่ผู้คนจะสนใจมาเรียน


            ความเหนื่อยยากตรากตรำทั้งทางพระวรกายและความคิดสติปัญญา  ทรงครองราชย์ท่ามกลางปัญหาและมรสุมรุมเร้าสยามประเทศรอบด้าน  ทำให้พระองค์ทรงจากคนไทยไปก่อนวัยอันควร   โดยเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๕๓  ขณะพระชนมายุได้ ๕๗ พรรษา

 

            ทรงจากไปท่ามกลางแห่งความรักความผูกพัน ที่ทุกคนไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะจากไปเร็วถึงเพียงนั้น  แต่นั่นแหละคือวิถีของบุคคลผู้เกิดมาค้ำชาติบ้านเมืองและสร้างบารมีภาคของฆราวาสในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน  ซึ่งเมื่อหมดหน้าที่แล้วก็มักจากไปในเวลาที่ใครๆไม่ทันตั้งตัว


              ขอเอาวันที่ ๒๓  ตุลาคม ของทุกปี ระลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์ไม่มีวันเสื่อมสลาย  พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถรักษาเอกราชชาติสยามได้ ฉันใด  ขอให้ประเทศไทยจงพ้นจากอันตรายทั้งปวงด้วยเทอญ.

 

                                                                                            คุรุอตีศะ
                                                                                    ๒๓  ตุลาคม  ๒๕๕๗