เพียงออกจากการแข่งขัน

เพียงออกจากการแข่งขัน

 


                สำหรับคนที่นิยมยินดี ในการได้ การมี การเป็น ตามวิสัยของชาวโลก  ย่อมรู้สึกมีความสุขและสนุกสนานในการได้ลงแข่งขันเพื่อเอาชนะหรือการได้เป็นที่หนึ่งเหนือคนอื่น


               การแข่งขันทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่าและภาคภูมิใจ  เขารู้สึกเปรมปรีดิ์ในหัวใจในยามที่เขาสามารถเอาชนะหรืออยู่เหนือคนอื่น  ส่วนผู้แพ้จะย่อยยับหรือโศกเศร้านอนสะอื้น  คนทั้งหลายก็ยังสามารถฉลองชัยชนะท่ามกลางน้ำตาของผู้พ่ายแพ้ซึ่งเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


             การปรารถนาที่จะเป็นที่หนึ่งหรือการมีชัยชนะเหนือผู้อื่น  คือการมุ่งได้รับความสุขและความภาคภูมิใจของตัวเราเองเป็นหลัก


             แต่สำหรับเส้นทางแห่งความรัก ย่อมได้แก่การมีเมตตาและเสียสละต่อเพื่อนมนุษย์ โดยบางครั้งเรายอมให้ผู้อื่นเป็นผู้ชนะ  แม้ในเรื่องนั้นเราอาจเป็นผู้มีความสามารถมากกว่า  นี้คือเส้นทางแห่งความรักความเมตตา  ซึ่งเป็นเส้นทางที่สงบร่มเย็นและปราศจากเวรภัย  อันเป็นเส้นทางของความเป็นนักบุญหรือเส้นทางของพระอริยบุคคล


             ทั่วทั้งโลกมีแต่ผู้คนที่สนับสนุนนิยมยกย่อง หรือพอใจที่จะเข้าสนามชิงชัยเพื่อการแข่งขัน   ทุกคนต่างใช้พละกำลังความสามารถอย่างสุดชีวิตและสุดกำลัง  เพื่อมุ่งเอาชนะการแข่งขันเพื่อแลกเอาเหรียญรางวัลเพียงเหรียญเดียว  การแข่งขันในชีวิตก็ทำนองนั้น


            สนามชีวิตที่ต่างคนต่างแข่งขันเพื่อเอาชนะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย  ย่อมมีความสำคัญหรือทรงความหมาย ก็เฉพาะบุคคลที่ยังตกเป็นเหยื่อหรือตกเป็นทาสทางใจในการอยากเอาชนะหรือต้องการอยู่เหนือคนอื่น


            ความรู้สึกว่าชีวิตของตนยังพร่องหรือยังด้อยกว่าคนอื่นอยู่  จึงมุ่งมั่นในการแข่งขันเพื่อเอาชนะหรืออยู่เหนือคนอื่นเรื่อยไป


           แม้จะเหนื่อยล้าและมีสิ่งบีบคั้นให้มีน้ำตาสักเพียงใด  ก็ยากยิ่งนักที่จะมีใครสักคนที่กล้าสลัดตัดใจออกจากสนามแข่งขัน แล้วมานั่งมองข้างสนามอย่างสบายใจ  เพราะความรักเกียรติรักศักดิ์ศรีที่ปุถุชนพากันพร่ำสอนไว้  จึงไม่อาจทำใจได้ที่จะกลายเป็นผู้นั่งชมวิวอยู่ชายทะเล


             สำหรับผู้เก่งกล้าทั้งหลายซึ่งตลอดชีวิตที่ผ่านมา  ชีวิตมีแต่ตั้งหน้าเอาชนะและเต็มไปด้วยการแข่งขันตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาลมาจนถึงบัดนี้  ลองออกจากการแข่งขันดูสักทีแล้วเอามือหยิบผ้าเย็นลูบใบหน้า ดื่มน้ำเย็นๆ นั่งพักใต้ร่มไม้มีลมพัดเย็นๆ แล้วเอนกายให้สบายปล่อยวางทุกเรื่องราวไว้เบื้องหลัง


            นี้คือคุณค่าความสุขของชีวิตในศาสนา หรือความสุขจากการบำเพ็ญภาวนาที่ยกมาเปรียบเทียบพอให้เข้าใจ  เป็นความสุขที่ประกอบด้วยความอิสระปลอดโปร่งในหัวใจที่ไม่รู้สึกว่าต้องแข่งขันกับใคร  เป็นความสุขของพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ประณีตลึกซึ้งยิ่งนัก


              ธรรมดาของชีวิตชาวโลก  ย่อมเต็มไปด้วยการแข่งขันและการชิงไหวชิงพริบแย่งชิงผลประโยชน์   เป็นชีวิตที่มือใครยาวสาวได้สาวเอาอย่าไปสนใจสายตาคนอื่น  เป็นเส้นทางที่มักมีโอกาสให้สร้างบาปสร้างกรรมอยู่ร่ำไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนหรือของครอบครัว  จึงเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยความคับแคบและมีแต่เรื่องหนักใจเข้ามาให้แก้ไขไม่เว้นแต่ละวัน

 

             เส้นทางสายนั้นเปรียบเหมือนการลงสนามแข่งขัน  ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวิ่งอย่างสุดชีวิตเช่นเดียวกับคนอื่น  หากใครหยุดยืนแม้แต่วินาทีเดียว  ก็อาจถูกคนอื่นล้มทับหรือเหยียบตายอยู่ในสนามแข่งขัน   เมื่อลงไปในสนามก็ต้องวิ่งสุดชีวิตแม้ต้องอ้าปากหายใจ  นั่นคือสนามชีวิตอันยิ่งใหญ่กว่าสนามแข่งโอลิมปิก ที่คนทั้งหลายกำลังวิ่งแข่งกันอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน


            ในวันหนึ่ง เมื่อเราหันมาตระหนักรู้และเชื่อฟัง"ข้างในของตัวเราเอง" แล้วหลังจากนั้นเราเพียงกล้าตัดสินใจก้าวเดินออกจากสนามแข่งขัน  วันนั้นย่อมคือวันแห่งการปฏิวัติภายในครั้งยิ่งใหญ่  ความอิสระเบิกบานและความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่เคยได้พบเลยตลอดเวลาที่ผ่านมาในหัวใจ  เราจะค้นพบตัวเองว่า นี้ต่างหากคือชีวิตใหม่ที่เราแสวงหาและต้องการอย่างแท้จริง


            เพียงกล้าก้าวเดินออกจากการแข่งขัน  แล้วปล่อยให้แต่ละวันดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างมีเสรีภาพ  ในภายนอกเราคงยังกระฉับกระเฉงประกอบการงานรับผิดชอบด้วยความสุขในหัวใจ แต่ดวงใจในภายในย่อมมีแต่การปล่อยวางอย่างเงียบกริบที่ไม่มีใครมารู้เห็นกับเรา


           นี้คือสิ่งที่ผู้รู้ท่านกล่าวว่า "ธุดงค์ข้างนอกแต่หยุดเย็นอยู่ภายใน"  ไม่ต้องใส่ใจในภาษาบาลีว่าเป็นฌานหรือญาณอะไร  รู้แต่ว่าขณะนี้มีความรู้ตัวอยู่ ตื่นอยู่ เบิกบานอยู่


             ขอเพียงให้หัวใจดวงนี้มีความสุขและผ่อนคลายอยู่ภายในไปแต่ละขณะ   หัวใจที่เคยแห้งผากและโหยหาก็จะเริ่มสดชื่นและมีกำลังใจ    ชีวิตนี้ย่อมไม่รู้สึกขาดแคลนความรักหรือสิ่งใดๆอีก    ชีวิตย่อมสัมผัสถึงความเต็มเปี่ยม  เพียงเท่านี้ชีวิตก็เพียงพอแล้ว

 

                                                                                            คุรุอตีศะ
                                                                                    ๑๗  สิงหาคม  ๒๕๕๗