ภูมิชั้นของจิต

ภูมิชั้นของจิต

 


                  วันนี้เป็นวันพระใหญ่  ขึ้น  ๑๕ ค่ำ เดือน ๗  เหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือนก็จะถึงกาลเข้าพรรษา  จึงอยากพาพวกเธอทั้งหลายที่มีศรัทธาและพากเพียรศึกษาธรรมะเป็นลำดับมา มาศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหลักพระไตรปิฎกดูบ้าง เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูพระปริยัติธรรม  อันเป็นการจรรโลงพระศาสนาประการหนึ่ง


              เธอทั้งหลายเคยทราบหรือไม่ว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบและแบ่งภูมิจิตของคนเราเป็น ๔  ระดับด้วยกัน  คือ


              ๑.กามาวจรภูมิ  เป็นภูมิจิตชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามารมณ์  ยังยินดีพอใจที่จะยุ่งเกี่ยวกับกามคุณคือรูปสวย เสียงไพเราะ  กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่ถูกใจ  ซึ่งได้แก่ภูมิจิตของคนสามัญทั่วไป


             ๒.รูปาวจรภูมิ  เป็นภูมิชั้นของจิตที่ท่องเที่ยวและมีความสุขมีความพอใจในอารมณ์ของรูปฌาน  ได้แก่ภูมิจิตของผู้ที่ฝึกสมาธิหรือสมถภาวนามามากจนกระทั่งได้รูปฌาน คือบรรลุฌานที่หนึ่งจนถึงฌานที่สี่  เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ไม่สนใจกามารมณ์  จิตอิ่มเอิบอยู่ในสมาธิ  ซึ่งเป็นสุขประณีตกว่ากามารมณ์  เป็นเหมือนพระพรหมอยู่บนดิน เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะไปเกิดเป็นรูปพรหมในพรหมโลก


             นักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่มักต้องการได้ภูมิจิตประเภทนี้ เพราะไม่อยากเป็นทุกข์จากการมีความต้องการทางเพศ จึงพยายามบำเพ็ญสมาธิเพื่อข่มกามารมณ์ไม่ให้ฟูขึ้นมา นักกัมมัฏฐานทั้งหลายจึงมักติดอยู่ในภูมิจิตระดับนี้ ติดความเข้มงวดเคร่งครัดในการปฏิบัติ  ติดการเดินจงกรมนั่งสมาธิว่าจะต้องทำจะต้องปฏิบัติตลอดเวลา เพราะกลัวว่ากิเลสจะท่วมทับหัวใจจึงต้องบำเพ็ญสมาธิเพื่อทรงฌานไว้เสมอ   โดยเฉพาะพระกัมมัฏฐานหรือพระป่าที่ขาดครูบาอาจารย์สอนการยกจิตจากฌานขึ้นสู่วิปัสสนา หรือสอนการเจริญสติอย่างถูกต้อง  จึงไม่สามารถเข้าสู่ภูมิจิตของพระอริยบุคคลได้ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก

      
               ผู้ที่แสดงฤทธิ์หรืออิทธิปาฏิหาริย์ได้ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ทรงภูมิจิตระดับนี้  จนกว่าจะเข้าสู่อริยภูมิจึงจะมองเห็นทุกข์โทษของการแสดงฤทธิ์ว่า ทำให้ผู้คนมาหลงติดและหลงใหลในตัวเอง  ทำให้พวกเขาสิ้นความเป็นตัวของตัวเองและห่างไกลจากการเข้าสู่การรู้แจ้งในสัจธรรม  เพราะมัวแต่ตื่นเต้นอัศจรรย์หรือติดในฤทธิ์ที่ผู้นั้นแสดงจนขาดการเจริญสติอย่างถูกต้อง


               ผู้รู้แจ้งในสัจธรรมที่มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์บางองค์บางท่าน แม้มีอภิญญาและมีฤทธิ์มาก แต่เมื่อต้องมาอยู่กับผู้คน ท่านก็ไม่แสดงฤทธิ์ ก็เพื่อประโยชน์ในการแสดงธรรมเพื่อให้ผู้คนเข้าใจ  อันจะเป็นหลักใจให้เขามีที่พึ่งของตัวเองที่แท้จริงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวของเขาเองมากกว่า  บางท่านก็อธิษฐานปิดกั้นฤทธิ์ของตัวเองที่บรรลุตั้งแต่อยู่ในป่าเมื่อต้องมาอยู่ในท่ามกลางผู้คนก็มี  สิ่งเหล่านี้เป็นอจินไตยซึ่งพวกเราทั้งหลายยากจะทำความเข้าใจต่อวิสัยของผู้มีฌาน


               อนึ่ง สำหรับบางองค์บางท่านที่มิได้มุ่งบรรลุมรรคผลหรือมุ่งความหลุดพ้นในชาติปัจจุบันนี้  แต่มุ่งบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์  ท่านอาจนำอิทธิฤทธิ์มาใช้เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้คนในด้านต่างๆก็ได้


               ส่วนบางท่านที่ทรงภูมิจิตเป็นอริยบุคคลชั้นหนึ่งชั้นใด และมีอภิญญาประดับบารมี  ส่วนใหญ่ท่านก็มักไม่ปรารถนาที่จะแสดงฤทธิ์เอง  แต่ปล่อยให้เทวฤทธิ์หรือนาคฤทธิ์ทำหน้าที่แทน เพราะท่านเบื่อหน่ายในอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว  สนใจแต่อนุสาสนีปาฏิหาริย์คือการพร่ำสอนแจกแจงแสดงธรรมให้แก่ผู้มีธุลีในดวงตาน้อยเป็นหลัก  ซึ่งผู้คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าท่านไม่มีฤทธิ์ไม่มีอภิญญาก็ได้  จึงนำมาเล่าให้เธอทั้งหลายได้ประดับเป็นความรู้ไว้ จะได้ไม่เผลอไปดูหมิ่นดูแคลนครูบาอาจารย์บางท่านว่า ท่านเอาแต่แสดงธรรมคงไม่มีอภิญญาอะไร


               ภูมิจิตในระดับรูปาวจรภูมินี้  ส่วนใหญ่เป็นจิตของพระกัมมัฏฐานหรือพระป่าตลอดทั้งนักปฏิบัติทั้งหลายทั้งที่เป็นนักบวชหรือฆราวาส ที่ท่านเหล่านั้นบรรลุสมาธิถึงขั้นอัปปนาคือได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตตถฌาน  แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านเหล่านั้นจะต้องเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา  จนกว่าจะรู้จักการเจริญสติได้อย่างถูกต้องจนภูมิจิตเลื่อนชั้นเข้าสู่โลกุตรภูมิ กลายเป็นพระอริยบุคคล อันเป็นภูมิจิตชั้นที่ ๔  ที่จะกล่าวต่อไป


              ๓.อรูปาวจรภูมิ  เป็นภูมิจิตที่มีความสุขอยู่ในอรูปฌาน ซึ่งมีอารมณ์ที่ประณีตยิ่งกว่ารูปฌาน  ภูมิจิตชั้นนี้พวกเรามักจะไม่ค่อยได้ยินหรือคุ้นหูเท่าไรนัก เพราะเป็นภูมิจิตที่เมื่อละโลกนี้ไป จะทำให้ไปบังเกิดเป็นอรูปพรหม  คือเป็นพระพรหมที่ไม่มีรูปมีแต่จิต  เป็นภูมิที่มีเพียง ๔ ขันธ์  คือ เวทนา สัญญา  สังขาร  วิญญาณเท่านั้น  ส่วนพวกเรานั้นเป็นมนุษย์มี ๕ ขันธ์  จึงยากจะทำความเข้าใจในภูมิจิตของอรูปพรหม  จึงขอกล่าวไว้เพียงเท่านี้


              ๔.โลกุตรภูมิ  เป็นภูมิจิตที่พ้นจากโลกของปุถุชนแล้ว  แม้กายจะอยู่ปะปนกับปุถุชนคนทั่วไป  เป็นภูมิจิตที่มีความสุขอันละเอียด ประณีต  ลึกซึ้งมาก  ได้แก่ พระโสดาบัน  พระสกิทาคามี พระอนาคามี  พระอรหันต์


               ภูมิจิตของพระอริยบุคคลนี้แหละที่หลายคนไปสับสนกับภูมิจิตของผู้บรรลุฌาน อันเป็นภูมิจิตชั้นที่ ๒ ที่พรรณนามาอย่างยืดยาวข้างต้น  อย่างเช่น  ผู้ที่บรรลุฌานอาจไม่เกิดความรู้สึกทางเพศเลยตลอดระยะเวลาที่สมาธิที่ได้ยังไม่เสื่อม เช่น ๕ ปี ๑๐ ปี  แต่ถ้าสมาธิหรือฌานเสื่อมลงเพราะเหตุหนึ่งเหตุใด  ผู้นั้นจะมีราคะและมีความโกรธหนักกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ  พระพุทธองค์จึงตรัสเปรียบเทียบการนั่งสมาธิว่าเป็นเหมือนหินทับหญ้า  เมื่อยกก้อนหินออกวันใดหญ้าก็งอกขึ้นมาใหม่  ต้องเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสติปัฏฐานจึงจะชำระกิเลสได้เด็ดขาด


              ผู้บรรลุฌานที่ไม่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐานและดำเนินจิตอย่างถูกต้อง  มักเข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์หรือพระอนาคามี  เพราะกามราคะจะไม่รบกวนเลยในระหว่าที่สมาธิยังทรงตัวอยู่  บางคนอยู่ได้เป็น ๑๐ ปี ฌานจึงเสื่อม  จึงมารู้ภายหลังว่าแท้ที่จริงแล้ว  จิตของตนยังไม่ได้เข้าถึงอริยภูมิแต่อย่างใด  นี้คือโทษของการติดในสมาธิที่ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านเตือนไว้  เพื่อให้ผู้ที่ได้สมาธิหรือได้ฌานแล้วต้องรีบเจริญวิปัสสนาเพื่อรู้แจ้งในสัจธรรมต่อไป


              ส่วนจิตของพระอริยบุคคลนั้น  จะต่างจากจิตของผู้ได้ฌานตรงที่  หากเป็นจิตในระดับพระโสดาบันบุคคล  ท่านก็ยังมีราคะ มีโทสะ มีโมหะอยู่ตามความเป็นจริง  แต่เป็นจิตเหนือโลกเพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำสามข้อได้แล้ว  มีผลทำให้หากยังไม่สิ้นกิเลสในชาตินี้ เมื่อต้องกลับมาเกิดใหม่ ก็จะเกิดไม่เกิน ๗ ชาติก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ และจะเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาเท่านั้น  ไม่ต้องตกลงสู่อบายเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน  เปรต  อสุรกาย สัตว์นรกอีกแล้ว


             จิตของท่านมั่นคงในพระรัตนตรัยไม่มีการคลอนแคลนอีก  ไม่ลังเลสงสัยในกฎแห่งกรรมหรือผลแห่งกรรมดีกรรมชั่ว  ยิ่งถ้าอยู่ในเพศฆราวาสด้วยแล้ว  คนใกล้ชิดญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมิตรสหายหรือคนทั่วไปอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ว่าอยู่ใกล้พระอริยบุคคล  จะต่างจากคนทั่วไปให้พอสังเกตได้บ้าง ก็ตรงที่มีความเลื่อมใสมั่นคงต่อพระศาสนาที่หนักแน่นมั่นคงจนตลอดชีวิต เป็นคนใจดีใจบุญหรือสร้างกุศลได้อย่างไม่เบื่อไม่หน่าย  แต่ก็ไม่ได้ทำเพื่อมุ่งมีชื่อเสียงความมีหน้ามีตาแบบคนทั่วไป ทั้งไม่ได้มุ่งทำบุญเพื่อไปเกิดในสวรรค์หรือต้องการเกิดเป็นมหาเศรษฐีต่อย่างใด  แต่ต้องการค้ำจุนจรรโลงพระศาสนา หรือมุ่งชำระใจของตนให้ผ่องใสเพื่อไร้อัตตาเป็นสำคัญ


               ขอให้เธอทำความเข้าใจไว้ง่ายๆว่า คนมีฌานหรือบรรลุสมาธิหรือมีอิทธิฤทธิ์  อาจไม่ใช่พระอริยบุคคลก็ได้  ส่วนพระอริยบุคคลที่ไม่ใช่พระอนาคามีนั้น ท่านอาจไม่บรรลุฌานก็ได้  แต่ท่านจะมีฤทธิ์เพราะเทวดาหรือพระยานาคอำนวยช่วยเหลือในการทำงานพระศาสนา หรือในการทำสิ่งใดที่จิตมุ่งเกื้อกูลผู้คนหรือประโยชน์ต่อส่วนรวม  จึงมีอำนาจิตและมีความพิเศษเหนือกว่าคนทั่วไปปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ


               สรุปได้ว่า  ภูมิชั้นของจิตของสัตว์โลกโดยเฉพาะมนุษย์นี้มี ๔ ระดับ  ชั้นแรกคือ กามาวจรภูมิ  อันเป็นภูมิจิตที่ยินดีพอใจในกามารมณ์ตามวิสัยของปุถุชนคนทั่วไป ผู้คนส่วนใหญ่ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ล้วนมีภูมิจิตอยู่ในระดับนี้ทั้งสิ้น


              ดังนั้นเธอทั้งหลายจงได้อย่าได้แปลกใจว่า เหตุใดผู้คนส่วนใหญ่จึงพากันหลงใหลใน เรื่องกิน  เรื่องกาม เรื่องเกียรติกันทั่วทั้งโลกจนน่าตกใจ  แม้แต่พวกเราเองนี้หากวันใดไม่ได้เจริญสติหรือสร้างกุศลประคองใจ  เราก็อาจตกเป็นสมาชิกรวมกลุ่มอยู่กับพวกเดียวกันกับเขา ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจได้ด้วยเหมือนกัน


              ส่วนภูมิจิตระดับที่สองและสาม คือรูปาวจรภูมิและอรูปาวจรภูมินั้น  มีผู้บำเพ็ญกันมาก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้แล้ว ปุถุชนผู้เคยลุ่มหลงในกิเลสมาก่อน เมื่อคิดจะปฏิบัติธรรมแล้วพยายามจะทำสมาธิเพื่อกำจัดความรู้สึกทางเพศจึงมีให้เห็นกันอยู่โดยทั่วไป  สิ่งนี้เองคือการปฏิบัติสุดโต่งสองด้านที่ท่านห้ามมิให้ทำคือ กามสุขัลลิกานุโยคกับอัตตกิลมถานุโยค


           การปฏิบัติเพื่อเข้าสู่โลกุตรภูมิ จึงต้องดำเนินจิตไปบนทางสายกลาง  คือหมกมุ่นมัวเมาในกามารมณ์อย่างสุดเหวี่ยงก็ไม่ใช่  จะบีบคั้นบังคับตัวเองจนเคร่งเครียดเกินไปก็ไม่ใช่อีก  แต่คือการไม่ดิ้นรนไขว่คว้าต่อสิ่งใด  ในขณะเดียวกันก็ไม่บีบบังคับตนเองเพื่อให้ได้ดั่งใจหรือไม่ผลักใสสิ่งใดด้วยความรังเกียจชิงชัง  ไม่ดึงดันเหนี่ยวรั้งไว้และไม่ผลักไสชิงชัง นั่นแหละคือทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา


            เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนา  จึงไม่ใช่การมุ่งหน้าทำสมาธิเพื่อเป็นพระพรหมผู้ข่มราคะ ข่มโทสะด้วยอำนาจของฌานก็หาไม่  แต่คือการมีสติระลึกรู้ความเป็นจริงในขณะนี้เรื่อยไป  แล้วดำเนินชีวิตไปตามปกติและอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง


            หากเธอมีภูมิจิตยังไม่ใช่พระอนาคามี  เธอจะฝืนหรือบังคับตัวเองเพื่อไม่ให้มีความรู้สึกทางเพศหรือไม่โกรธใครย่อมเป็นไปไม่ได้  แม้แต่พระโสดาบันบุคคลอย่างนางวิสาขาท่านก็ยังมีราคะและร้องไห้เมื่อหลานสาวถึงแก่ความตาย  แล้วเหตุใดเธอจะไม่รู้สึกดีใจเสียใจ หรือสมหวังผิดหวัง อันเป็นของมีอยู่ประจำโลกในชีวิตแห่งความเป็นจริง


           จงยิ้มรับความสมหวังความผิดหวังที่บังเกิด  อย่าหวังเล็งผลเลิศเพื่อให้ทุกสิ่งเป็นดั่งใจซึ่งฝืนต่อความจริงตามกฎพระไตรลักษณ์  เมื่อผิดหวัง  เธอจะร้องไห้เพื่อให้น้ำตาไหลออกมาบ้างก็ไม่เห็นจะเป็นไร  แต่จงร้องไห้พร้อมกับรู้ตัวขณะที่น้ำตากำลังไหลอาบแก้มลงไป  เพียงเท่านี้เธอก็ได้อยู่ใกล้พระพุทธองค์แล้ว


            เมื่อเราได้ทราบหลักของพระปริยัติธรรมตามพระไตรปิฎก  เธอจะพบว่าบัดนี้เธอกำลังใช้เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิต  เพื่อดำเนินจิตในภูมิชั้นระดับที่ ๔  นับว่าเธอทุกคนเป็นผู้มีบุญวาสนายิ่งนักแล้ว   จงอย่าคิดน้อยอกน้อยใจว่าตนเป็นคนอาภัพอับโชคหรือด้อยวาสนาเป็นอันขาด


            ขอให้เธอทั้งหลายจงโชคดี ได้มีดวงจิตเข้าถึงอริยภูมิอย่างน้อยคือการบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลในชาตินี้


            ขอให้ความรักอันสูงส่งงดงามและจิตเดิมแท้  จงสถิตมั่นอยู่ในดวงใจของเธอตลอดไป

 

                                                            ดาบสนิรนาม
                                                      ๑๒  มิถุนายน  ๒๕๕๗