ความเป็นพระอยู่ที่ใจ

ความเป็นพระอยู่ที่ใจ

 

 

              หลังจากที่ท่านอาจารย์ยันตระได้กลับคืนสู่มาตุภูมิเมื่อวันที่ ๑๙  เมษายน  ๒๕๕๗ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อต่างๆได้เผยแพร่ข่าวออกสู่สาธารณชนในวันที่ ๒๓  เมษายน  ๒๕๕๗  อันเป็นผลทำให้ ศิษย์และผู้คนที่เคารพนับถือซึ่งพากันรอคอยวันเวลาอันสำคัญนี้มานานเกือบยี่สิบปี  ได้พากันหลั่งไหลไปกราบไหว้ท่านอาจารย์ยันตระซึ่งบัดนี้อยู่ในเครื่องแบบนักพรตโยคีกันมากมาย จนเป็นข่าวคราวครึกโครมกันไปทั่วทั้งประเทศ

 

              หากย้อนเวลากลับไปเมื่อยี่สิบปีมาแล้ว  ซึ่งนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่สองในตอนนี้แทบทั้งหมดเพิ่งจะเกิดมาลืมตาดูโลก   หลังจากผ่านงานวันเกิด  ๑๔  ตุลาคม  ๒๕๓๖ ที่คณะศิษยานุศิษย์ทั้งประเทศจัดขึ้นเพื่อแสดงมุทิตาจิตในโอกาสที่ "ท่านพระอาจารย์ยันตระ  อมโรภิกขุ" มีอายุครบ ๔๒ ปีบริบูรณ์

 

             เหตุการณ์ในวันนั้น  มีคนหลั่งไหลไปใส่บาตรทำบุญและฟังธรรมกลางป่าเขามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง  ๒๐๐,๐๐๐ คน  รถยนต์จอดเรียงรายสองฟากถนนยาวสามกิโลเมตร  มีพระภิกษุสามเณรออกรับบิณฑบาตในวันนั้นจำนวน ๒๐๐ รูปเศษ  และกว่าจะเดินรับบิณฑบาตทั่วถึงก็เวลาผ่านไปจนถึงบ่ายสองโมง ญาติโยมที่เดินทางมาจากทุกสารทิศจึงได้ใส่บาตรครบทุกคน  ทำให้มีพระภิกษุและสามเณรตัดสินใจสร้างขันติบารมีและอธิษฐานบารมีด้วยการงดฉันอาหารในวันนั้นจำนวน  ๑๐๘  รูปด้วยกัน

 

                แต่หลังจากวันเวลาแห่งความปลื้มปีติผ่านไปเพียง  ๓  เดือน  หลังจากนั้นลูกศิษย์และคนที่เคารพนับถือก็เกิดความรู้สึกช็อคกันทั่วทั้งประเทศอันเป็นความรู้สึกที่ตรงกันข้าม  เมื่อหนังสือพิมพ์ข่าวสดได้พาดหัวข่าวกรณีความอื้อฉาวด้านพระธรรมวินัยอันสั่นสะเทือนวงการคณะสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่  ๑๖  มกราคม  ๒๕๓๗  ซึ่งเมื่อนับเอาวันที่เกิดเรื่องราวครั้งแรกนั้นจนมาถึงวันนี้  ก็ครบเวลา  ๒๐ ปีพอดี

 

               พระอาจารย์ยันตระ  อมโรภิกขุ สมัยเมื่ออายุ  ๔๒  ปีเมื่อยี่สิบก่อน  กับท่านอาจารย์ยันตระในรูปแบบมหาโยคีผู้ไว้หนวดเครา และมีเส้นผมปล่อยยาวตามธรรมชาติไม่มีการโกนเหมือนพระภิกษุทั่วไป ในวัย ๖๒ ปี  คนไทยอาจไม่คุ้นเคยหรือชินตานัก  แต่รูปแบบเช่นนี้เป็นรูปแบบของนักบวชหรือนักพรตทั่วไปในอินเดียและถิ่นอื่นของโลก  แม้แต่หลวงปู่สรวง  เทวดาเดินดิน สมัยยังทรงสังขารร่างกายอยู่นั้น  เวลาท่านไปกราบเยี่ยมผู้เป็นอาจารย์ของท่านที่เขาพนมกุเลน  ผู้ที่เคยติดตามก็กลับมาเล่าว่า  อาจารย์ของท่านก็ทรงฌานสมาบัติ  นั่งบำเพ็ญอยู่บนเขา  มีผมยาวเกือบถึงพื้นเพราะไม่ได้ปลงผมเลย

 

                    การบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา  เมื่อเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีบรรพชา  พระอุปัชฌาย์อาจารย์จะสอนให้นาคเปล่งวาจาในการขอบรรพชาเป็นภาษาบาลีว่า "สัพะทุกขะนิสสะระณะนิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ  อิมัง  กาสาวัง  คะเหตะวา  ปัพพาเชถะ มัง  ภันเต  อะนุกัมปัง  อุปาทายะ"

 

                 มีความหมายในภาษาไทยว่า "ข้าแต่ท่านพระอุปัชฌาย์ผู้เจริญ  ขอจงเมตตาอนุเคราะห์โปรดได้รับเอาผ้ากาสาวพัสตร์นี้บวชซึ่งตัวกระผมด้วย  เพื่อกระผมจักได้กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน  อันเป็นที่สลัดออกเสียได้แห่งทุกข์ทั้งปวง"

 

                  การบวชเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัย  ต้องปลงผมและหนวด ห่มผ้ากาสายะคือผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาดที่ไม่ใช่ผ้าที่ทำหรือตัดขึ้นมาเพื่อความสวยงามหรือประดับตกแต่งร่างกาย  แล้วกระทำพิธีตามที่พระวินัยบัญญัติไว้  ความเป็นพระภิกษุจึงจะมีความสมบูรณ์

 

                  แต่ความสมบูรณ์ของการเป็นพระภิกษุที่ว่านี้  เป็นเพียงการเป็นพระภิกษุตามสมมุติเท่านั้น  คือเป็นเพียงการได้แต่งเครื่องแบบของพระอรหันต์  แต่หลังจากนั้นจะมีคุณสมบัติและความสามารถสมกับเครื่องแบบที่สวมใส่หรือไม่  ก็สุดแท้แต่จุดมุ่งหมายแห่งการออกบวชและการประพฤติปฏิบัติของแต่ละคนเป็นสำคัญ

 

                บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ก็สามารถพัฒนาดวงจิตจนเข้าสังกัดของพระอรหันต์หรือเป็นพระอริยบุคคลได้สำเร็จตามคำปฏิญาณในภาษาบาลีในการบวชวันแรก  บางคนก็เป็น "สมมุติสงฆ์" ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย นี้คือความต่างกันของการออกบวชหรือความเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

 

                ความจริงแล้ว คำว่า "พระภิกษุ" แปลว่า "ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร" คำว่า "พระภิกษุณี" แปลว่า "สตรีผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร"  การเป็นพระภิกษุที่แท้จริง  จึงไม่ใช่จะตัดสินเพียงแค่การปลงผมห่มเหลืองในภายนอกเท่านั้น  แต่คือการเป็นผู้มีดวงจิตไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เพราะเห็นทุกข์โทษในวัฏฏสงสาร เห็นทุกข์โทษและเบื่อหน่ายต่อการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ปรารถนาความหลุดพ้นไปจากกระแสแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย รู้แจ้งในสัจธรรม จนจิตเข้าสู่ความหลุดพ้นอยู่เหนือสุขและทุกข์ในโลกทั้งปวง  ผู้คนหรือฆราวาสผู้ครองเรือนทั้งหลาย  ที่พากันกราบไหว้บูชาพระภิกษุก็เพราะเหตุนี้เป็นหลักใหญ่สำคัญที่สุด

 

               ตามที่ปรากฏในข่าวคราวว่าเกิดมีปัญหา เรื่องการไปกราบไหว้ท่านอาจารย์ยันตระว่าจะเป็นการสมควรหรือไม่ สำหรับบุคคลที่อาจไม่ทราบความผูกพันระหว่างลูกศิษย์และอาจารย์ที่มีความเคารพรักต่อกันด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ   ขอจงลองเปลี่ยนมุมมองใหม่และเคารพในสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาอันเป็นเนื้อแท้ให้กว้างยิ่งขึ้น   เรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาและไม่เป็นปัญหาอีก

 

              มาในยุคสมัยนี้  เราไม่อาจใช้กฎหมาย หรืออำนาจทางการเมืองการปกครอง ไปบีบบังคับให้ใครเคารพนับถือหรือจงรักภักดีต่อใคร หรือไปบังคับไม่ให้เขาเคารพนับถือใครไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

 

            การที่คนเราจะเกิดความรู้สึกเคารพนับถือจนกระทั่งอยากกราบไหว้ใครนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากนัก หากไม่เกิดขึ้นด้วยน้ำใสใจจริงแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้  เพราะผู้คนส่วนใหญ่ย่อมเต็มไปด้วยอัตตาความถือตัวและยากที่จะอ่อนน้อมถ่อมตัวต่อผู้อื่น  มีแต่จะแข็งกระด้างถือดีว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่นกันทั้งนั้น  ยากนักที่จะก้มหัวให้แก่ใครหรือมือไม้อ่อนพอที่จะแสดงความเคารพหรือไหว้ใครได้

 

               ดังนั้น  หากบุคคลใดที่แม้ไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่วัฒนธรรมประเพณีบังคับให้ต้องกราบไหว้เช่นพระภิกษุ  แต่กลับมีผู้คนเกิดความเคารพนับถือด้วยความจริงใจโดยไม่ต้องครองจีวรนั้น  บุคคลเช่นนั้นย่อมต้องมีคุณสมบัติและคุณงามความดีที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

 

               เราไม่ควรก้าวล่วงผู้อื่นแม้กระทั่งการแสดงความเคารพของศิษย์กับตัวอาจารย์   เราควรให้เกียรติต่อการแสดงออกระหว่างผู้เป็นศิษย์ที่มีต่ออาจารย์ผู้มีพระคุณ  ขนาดนักเรียนยังทรุดตัวลงกราบอาจารย์ผู้เป็นฆราวาสที่แม้ไม่มีศีล ๕ ด้วยซ้ำยังได้  แม้คนชั้นสูงหรือผู้ดีที่ประพฤติตนเช่นคนทั่วไป เราก็ยังกราบไหว้ได้อย่างสนิทและเต็มใจ

 

              แล้วเหตุใดลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ยันตระจะกราบไหว้อาจารย์ของตนไม่ได้  ทั้งๆที่คนเหล่านั้นทำด้วยความบริสุทธิ์จริงใจไม่มีใครบังคับ  ที่สำคัญพวกเขายังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวอาจารย์อยู่อย่างมั่นคง  แม้วันเวลาจะผ่านไปแล้วถึงยี่สิบปี  สิ่งเหล่านี้น่าคิดและน่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นความหลงงมงายของพวกเขาหรือว่ายังมีสิ่งใดที่พวกเราทั้งหลายในยุคสมัยนี้ไม่รู้ชัดกันแน่  จึงขอฝากผู้รู้ทั้งหลายไว้ช่วยกันลองพิจารณาต่อไป

 

                 การบวชเป็นพระภิกษุในตอนแรก  ต้องปลงผมและหนวด ห่มผ้ากาสายะ จึงจะสำเร็จเป็นองค์พระตามพระวินัยและตามประเพณี  แต่ความเป็นพระที่แท้จริงนับจากนี้  ไม่ได้วัดที่การโกนหัวห่มเหลืองอีกแล้ว  แต่ความเป็นพระวัดกันที่ความสละละวางและความสะอาดบริสุทธิ์แห่งจิตของบุคคลนั้นต่างหาก

 

                 เคยมีตัวอย่างพระภิกษุรูปหนึ่งถูกอธิกรณ์ต้องถูกบังคับให้สึกจากความเป็นพระ  ท่านก็ใส่ชุดขาวใช้ชีวิตเงียบๆอยู่ในวัด  จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย  ท่านป่วยและถึงแก่ความตาย  คนในวัดแห่งนั้นก็นำร่างท่านไปเผาด้วยฟืนตามประสาคนบ้านนอกโดยคิดว่าเป็นตาแก่อาศัยวัดเหมือนคนธรรมดาทั่วไป

 

               แต่ปรากฏว่าพอเผาเสร็จแล้วปล่อยกองฟอนทิ้งไว้  วันรุ่งขึ้นพอไปเก็บอัฐิ  ปรากฏว่า อัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุ  ทำให้ทุกคนต้องพากันเอาดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมากันยกใหญ่  ส่วนพระภิกษุที่เคยใส่ร้ายท่านเพื่อแย่งศรัทธาและแย่งความเป็นใหญ่ในที่สุดก็สารภาพความจริงออกมา  แล้วก็ต้องสึกออกไป  ต่อมาไม่นานก็ป่วยเป็นโรคร้ายและสิ้นชีวิตไปด้วยความทรมาน นี้คือทุกข์โทษของวัฏฏสงสารที่สัตว์โลกต้องเผชิญ

 

                 เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแต่ถูกเก็บเป็นความลับ เพราะเป็นเรื่องกระทบกับคนอีกหลายคน      ที่นำมาเล่านี้ก็เพื่อแสดงให้พวกเราได้เห็นว่า ชีวิตของพระหรือนักบวชนั้น เป็นสิ่งที่เราฆราวาสทั่วไปยากจะหยั่งได้ถึงด้วยความคิดและสติปัญญาของเรา และในโลกนี้ยังมีอะไรลึกซึ้งซับซ้อนเกินกว่าเราจะเข้าใจอยู่อีกมากมาย  แต่ละคนแต่ละชีวิตล้วนแล้วแต่มีวิบากกรรมที่จะต้องได้เสวยไปตามกรรม  โลกนี้จึงมีแต่ความผันแปร  ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้เลย  จึงควรหมั่นสร้างกุศลไว้และหมั่นภาวนาเจริญสติกันไว้เสมอ ชีวิตของเราทุกคนจะได้ปลอดโปร่ง ปลอดภัย และพบแต่สิ่งที่ดีๆ

 

              ท่านอาจารย์ยันตระในวัย ๖๒ ปี  ท่านจะเป็นอย่างไรเราไม่อาจรู้ความจริงอย่างแน่ชัดได้  บัดนี้สตรีที่เคยกล่าวหาท่านก็สิ้นชีวิตไปแล้ว  ตัวท่านอาจารย์ท่านก็ได้แต่พูดกับผู้คนที่ไปหาท่านในยามที่ท่านหมดสิ้นลาภสักการะและสูญสิ้นชื่อเสียงทั้งปวงในเวลานี้ว่า "อย่าไปสนใจเรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วเลย  จงมีสติตั้งหน้าทำความดีของเราในแต่ละวันนี้ให้ดีที่สุด  อย่าไปสนใจความถูกความผิดของคนอื่น  จงรักษาความเป็นกลางของใจเราไว้  อย่าปล่อยให้ดวงใจของเราหวั่นไหวไปกับอารมณ์แห่งความยินดียินร้าย เราจะได้มีความสุขและร่มเย็นทุกวัน"

 

               สำหรับผู้ที่ไม่มีความยึดติด "ความเป็นพระ"เพียงแค่รูปแบบภายนอก  แต่เข้าใจความหมายแห่งความเป็นพระอันแท้จริงว่า "ความเป็นพระอยู่ที่ใจ"  ท่านอาจารย์ยันตระได้ฝากคติธรรมสอนใจไว้แก่ผู้คนทั้งหลาย ในยามที่ทุกคนกำลังต้องการแสงสว่างทางปัญญา โดยขอให้ทุกคนมีหลักในใจไว้ว่า

 

               "เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง  มองทุกอย่างเป็นธรรมดา  รู้แจ้งชัดอนัตตา  แล้วชีวาจะร่มเย็น"

 

 

                                                                                   คุรุอตีศะ

                                                                           ๒๖  เมษายน  ๒๕๕๗