ไร้การพยายาม
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
ไร้การพยายาม
ตามที่กล่าวไว้แล้วว่า การปฏิบัติธรรมทุกวิธีหรือทุกสำนัก ล้วนเป็นการเน้นให้ทุกคน “พยายามปฏิบัติ” เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งหนึ่งตามที่ใจของตนปรารถนา เพราะธรรมชาติของคนเราทุกคนย่อมรู้สึกว่าทุกสิ่งสำเร็จได้ตลอดมา ก็เพราะตัวเรานี้เป็นผู้กระทำ
การปฏิบัติธรรมอันเป็นนามธรรม ทุกคนก็รู้สึกว่าต้องทำแบบนั้น การบรรลุธรรมจึงจะเกิดขึ้น ความจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยวิธี “เข้าไปพยายามกระทำ”เช่นนั้น สิ่งบรรลุคือสมาธิหรือฌานสมาบัติ ซึ่งบุคคลใดดำเนินตามหลักวิชาที่กำหนดไว้ สมาธิหรือฌานย่อมสำเร็จได้ แต่ “ธรรม”อันแท้จริงไม่อาจบรรลุได้ด้วยวิธีนั้น แต่ธรรมย่อมบรรลุถึงได้เมื่อใจไร้ความพยายาม
การปฏิบัติที่ยากลำบากและใช้เวลานานมากสำหรับความรู้สึกของบางคน ก็เพราะการเอาอัตตาตัวตนนี้เข้าไปปฏิบัติ การพยายามที่จะปฏิบัติให้ได้ จึงเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ แต่สำหรับบางคนการปฏิบัติธรรมรู้สึกว่าเป็นของง่าย ก็เพราะมีความเข้าใจที่แยบคายในการวางจิตให้พอดี ไม่เอาตัณหาอุปาทานนำหน้า แต่เอาสติปัญญาเป็นตัวนำในการเจริญอริยมรรค
ผู้ที่ปฏิบัติทุกข์ยากลำบาก เพราะความอยากบรรลุหรืออยากได้พระนิพพาน เมื่อจิตประกอบด้วยตัณหาความดิ้นรนทะเยอทะยาน ประกอบด้วยอุปาทานคือยึดมั่นว่าพระนิพพานเป็นสิ่งประเสริฐต้องบรรลุให้ได้ จิตจึงไม่ตั้งมั่น เต็มไปด้วยความฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย จิตห่างไกลจากความเป็นกลาง ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องยากลำบากและใช้เวลานานมาก ยิ่งปฏิบัติ ก็ยิ่งรู้สึกว่าไกล ส่วนใหญ่เป็นผู้มีจริตในทางมีศรัทธามาก แต่ปัญญาไม่แก่กล้า จึงเป็น”ทุกขาปฏิปทา” ต้องปฏิบัติด้วยความทุกข์ยากลำบาก จึงจะบรรลุและแจ่มแจ้งในสัจธรรม
ส่วนผู้ที่มีปัญญาแก่กล้า กระทำไว้ในใจด้วยความแยบคายว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นและดับไปด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีบุคคลใดเข้าไปพยายามเพื่อให้เกิดสิ่งใดหรือดับสิ่งใด ไม่ต้องพยายามเพื่อบรรลุสิ่งใด เพราะสิ่งที่ตนอยากบรรลุนั้น ทุกคนมีอยู่แล้ว การบรรลุธรรมไม่ใช่การได้อะไรมาใหม่ แต่คือการได้จิตเดิมแท้กลับคืนมา พระนิพพานไม่ได้อยู่ที่บนฟากฟ้าหรือสูงส่งอะไร สามารถพบได้ที่ใจดวงนี้นั่นเอง เพียงจิตดวงนี้หยุดเย็น ก็เห็นพระนิพพาน
ผู้ที่มีความเข้าใจในรหัสนัยเช่นนี้ จึงไม่พยายามเพื่อจะให้บรรลุสิ่งใด แต่พยายามที่จะไม่ให้จิตนี้เผลอสติไปคิดอยากบรรลุสิ่งใดมากกว่า เพราะมีความเข้าใจที่แยบคายว่า ยิ่งพยายามที่จะบรรลุ ยิ่งทำให้เนิ่นช้า ยิ่งอยากบรรลุพระนิพาน พระนิพพานย่อมไกลออกไป แต่เมื่อจิตไร้ความพยายามเมื่อไหร่ พระนิพพานก็ใกล้เข้ามาทันที บุคคลใดที่เข้าใจรหัสนัยนี้ การปฏิบัติธรรมจะไม่เป็นการยากลำบาก กลายเป็นผู้ปฏิบัติแบบ “สุขาปฏิปทา”โดยอัตโนมัติ
ผู้ปฏิบัติแบบเข้าไปกระทำเพื่อให้บรรลุ เป็นการปฏิบัติด้วยการเอาตัณหาอุปาทานนำหน้าโดยไม่รู้ตัว เพราะสติปัญญายังไม่แยบคายและไม่รู้เท่าทันว่าจิตของตนมีความอยากนำหน้า จิตจึงต้องเผชิญกับนิวรณ์อย่างหนัก ต้องเอาชีวิตเข้าแลก จิตจึงจะยอมละทิ้งความเป็นอัตตา จนกว่าจิตจะยอมละพยศและยอมรับความจริงว่า ที่ทุกข์ยากตลอดมาก็เพราะถูกตัณหาชักพาไปเป็นทาสโดยไม่เคยรู้ตัวแม้แต่น้อย แท้จริงแล้วชีวิตนี้ที่ทุกข์ยากแสนสาหัสก็เพราะตัณหาและอุปาทาน คือความอยากและความยึดมั่นถือมั่นของตนนั่นเอง
ส่วนบุคคลใดที่มีวาสนาได้ปฏิบัติธรรมมาหลายภพหลายชาติ มีโอกาสได้สดับกระแสธรรมที่ให้รู้เท่าทัน “ความอยากบรรลุ”นี้ตั้งแต่ต้น ซึ่งสิ่งนี้ขัดขวางการบรรลุมรรคผลของตนมาทุกชาติทำให้ไปไม่ถึงไหน ปฏิบัติในชาติใดก็บรรลุแต่สมาธิแล้วก็มักเข้าใจผิดว่าเป็นการบรรลุมรรคผล เพราะจริตของตนมีอุปาทานในความเคร่งครัดและต้องการบรรลุมากเกินไป
หากในชาตินี้ได้ยินคำว่า “ไม่ต้องปฏิบัติอะไรและไม่ต้องบรรลุถึงอะไร” จิตของบุคคลนั้นอาจเกิดความสว่างไสวโดยขณะนั้นกำลังตักข้าวใส่ปากก็ได้ บางคนกวาดใบไม้ไปแล้วก็รู้แจ้งขึ้นมาในขณะมือกำลังจับด้ามไม้กวาดนั่นเองก็มี นี้คือ อกาลิโก ความไม่มีข้อจำกัดของกาลเวลา เพราะการรู้แจ้งสัจธรรมนั้นไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่ขึ้นกับท่าทาง ไม่ขึ้นกับรูปแบบใดๆ
สำหรับข้อปฏิบัติในเบื้องต้น ครูบาอาจารย์ย่อมจะสอนให้ทุกคน “พยายามปฏิบัติ”ไปก่อน เป็นการอนุโลมตามจิต จนกว่าอินทรีย์ได้รับการบ่มจนได้ที่ หลังจากนั้นท่านอาจชี้ให้บุคคลนั้นวางความพยายามลง จิตจะได้ปล่อยปลงเกิดความผ่อนคลายเข้าสู่ความเป็นมัชฌิมาปฏิทา การปฏิบัติธรรมที่บางคนเริ่มรู้สึกว่าถึงทางตันและไม่ก้าวหน้าเหมือนเมื่อก่อน จงหันมาดำเนินจิตในวิถีแห่งการไร้ความพยายามนี้ บางทีความสว่างไสวอาจเกิดขึ้นในฉับพลัน
ส่วนบางคนนั้นปฏิบัติมาตั้งมากแล้วก็ไม่เคยบรรลุสมาธิอะไรเหมือนคนอื่นเขา แสงสี เทวดา พญานาค พระอินทร์ เมืองลับแลหรืออะไรก็ไม่เคยได้เห็นแม้แต่น้อย จนเกิดความท้อแท้และหมดอาลัยว่าตัวเรานี้ช่างด้อยวาสนา คนอื่นเขาบอกว่านั่งสมาธิแล้วรู้เห็นอะไรตั้งมากมาย แต่ตัวเราทำไมไม่เห็นอะไร เห็นอยู่อย่างเดียวคือ เห็นใจของตัวเองที่คิดโน่นคิดนี่อยู่ตลอดเวลา
บางทีอาจะเป็นเพราะว่าจิตของเราได้ดำเนินมาถูกต้องแล้วด้วยสติและปัญญา บุญบารมีจึงค้ำจุนจิตดวงนี้ไม่ให้ตกลงสู่ภวังค์ให้ต้องตกเป็นทาสของนิมิตต่างๆในชาตินี้ให้เสียเวลาอีก สติได้คุ้มครองไม่ให้จิตของเราหลงออกนอกทางของสัมมาอริยมรรค ดังนั้น จงมาทำความรู้จักกับการ “ไร้การพยายามเพื่อบรรลุสิ่งใด” มรรคผลที่เราเคยปรารถนาไว้เมื่อชาติที่แล้ว อาจถึงเวลาเข้าสู่กระแสแห่งการรู้แจ้งสว่างไสวในคราวนี้ก็ได้
ปล่อยให้จิตดวงนี้อิสระสู่ธรรมชาติ ไม่ต้องอยากบรรลุสิ่งใด อยู่กับความสงบก็ได้ อยู่กับความวุ่นวายก็ได้ ปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปและคลี่คลายในตัวมันเอง
จงเป็นเพียงผู้ดู อย่าพยายามเป็นผู้แสดง จงอย่าพยายามเข้าไปปรุงแต่งหรือพยายามควบคุมสิ่งใด นี้คือ วิถีแห่งความไร้ความพยายาม ไร้ความกำหนดหมาย สุดท้าย สิ่งที่แสวงหามาเนิ่นนาน อาจอยู่บนหน้าผากของเรานี้เอง
คุรุอตีศะ
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗