วิถีแห่งการปฏิบัติ

วิถีแห่งการปฏิบัติ

 


           วิถีแห่งการปฏิบัติธรรมนี้  หมายถึง การดำเนินจิตไปสู่การบรรลุธรรมของผู้ปฏิบัติ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ วิถีด้วยกัน


          ขอให้สังเกตคำว่า “วิถี” ที่นำมาสื่อความหมายในที่นี้ ซึ่งจะมีความหมายคนละอย่างกับคำว่า “วิธี” ดังนั้น สิ่งที่ต้องการสื่อสารออกมาสู่ท่านทั้งหลาย จึงไม่ใช่วิธีการปฏิบัติธรรม แต่เป็น “วิถีแห่งการปฏิบัติธรรม” ที่หลายท่านอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน


          วิถีแห่งการปฏิบัติธรรม  แบ่งได้เป็น ๒ วิถี คือ การปฏิบัติแบบเข้าไปกระทำเพื่อให้บรรลุ อย่างหนึ่ง กับการปฏิบัติแบบไร้การปฏิบัติ อีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งทั้งสองวิถีนี้มีหลักการแตกต่างกัน


          การปฏิบัติแบบเข้าไปกระทำเพื่อให้บรรลุ  เรียกชื่อว่า ปฏิบัติแบบโยคะ การปฏิบัติธรรมวิธีนี้ ผู้ปฏิบัติจะใช้อัตตาคือความเป็นตัวเราในการ “เข้าไปปฏิบัติ”เพื่อให้บรรลุธรรม เป็นวิธีที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้  โยคี ฤาษี นักพรต นักบวชทั้งหลายล้วนปฏิบัติธรรมด้วยวิธีแทบทั้งสิ้น  การปฏิบัติธรรมแบบ “ต้องพยายามปฏิบัติเพื่อให้บรรลุธรรม”นี้ พวกเราส่วนใหญ่ต่างทราบและรู้จักกันดี  และ “วิธี”ในการปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ย่อมปรากฏอยู่โดยทั่วไป


             ผู้ปฏิบัติธรรมโดยวิธีนี้  ต้องเข้าหาครูบาอาจารย์และต้องปฏิบัติตามคำสอนของท่านอย่างเคร่งครัด  ตามหลักสูตรที่ต้องอยู่ในห้องกรรมฐานและไม่ให้พูดกับใครเลยอย่างน้อยสิบวัน และต้องตัดปลิโพธความกังวลทั้งปวง ก็ต้องทำให้ได้ตามนั้น  การปฏิบัติธรรมแบบนั้นจึงจะได้ผล   เหมาะสำหรับผู้ต้องการความเคร่งครัดและเข้มงวดกับตัวเองเพื่อให้สติคมชัดขึ้น โดยมีอาจารย์ผู้รู้ชัดในสติและรู้อารมณ์วิปัสสนาญาณคอยควบคุมใกล้ชิด นี้คือสายวิปัสสนา


            สำหรับผู้ปฏิบัติที่ไม่ชอบการถูกจำกัดในที่คับแคบ ต้องการอยู่กับความเงียบสงบโดยไม่เกี่ยวข้องกับผู้คน  ก็ปลีกหลีกเร้นเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อบำเพ็ญสมาธิให้ยิ่งยวด  วิธีนี้คือวิธีของสายวัดป่าหรือพระธุดงคกรรมฐานที่เราทราบกันดี  เป็นเส้นทางของผู้ต้องการหลุดพ้น ส่วนการจะได้เกื้อกูลช่วยเหลือคนอื่นมากน้อยเพียงใด ให้เป็นเรื่องสุดท้ายเมื่อตนชำระกิเลสได้เด็ดขาด


           แต่ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบวิธีควบคุมบังคับตัวเองให้อยู่ในที่จำกัด หรือวิธีการอยู่ในที่สงบเงียบแบบพระป่าตามที่กล่าวมา ก็จัดว่าเป็นการปฏิบัติธรรมแบบ “เข้าไปกระทำเพื่อให้บรรลุ”อันเป็นวิธีแบบโยคะทั้งสิ้น  เป็นวิธีที่เน้นสมาธิและรักษาศีลอย่างเคร่งครัดเป็นหัวใจสำคัญ


          ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า “ต้องพยายามปฏิบัติ”อยู่ตลอดเวลา และจะรู้สึกว่าต้องได้นั่งสมาธิและเดินจงกรมเท่านั้น จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรม  นักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ “เข้าไปกระทำเพื่อให้บรรลุ”แบบนี้แทบทั้งหมด และมักยึดมั่นว่ามีแต่วิธีที่ตนดำเนินอยู่นี้เท่านั้นจึงจะทำให้บรรลุธรรมได้ เพราะต้องอาศัยศรัทธานำหน้าในการสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปฏิบัติ


         วิธีปฏิบัติตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะมีการแบ่งแยกระหว่างทางโลกกับทางธรรม มีการแบ่งแยกว่า นี้คือนักปฏิบัติ  นี้ไม่ใช่นักปฏิบัติ  เราส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกันดีกับวิธีปฏิบัติแบบนี้กันอยู่แล้ว  เวลามีใครพูดว่า “ปฏิบัติธรรม” เราก็มักจะนึกถึงการปฏิบัติธรรมในรูปแบบนี้เสมอ


          ยังมีการปฏิบัติธรรมอีกอย่างหนึ่งที่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายยังไม่ค่อยคุ้นเคยกัน  การปฏิบัติธรรมแบบนี้นั้นจะดำเนินจิตโดยวิธีตรงกันข้ามกับวิธีแบบโยคะข้างต้น  เพราะเป็นวิธีที่ปฏิบัติแบบไร้การปฏิบัติ  เป็นการวางจิตให้เป็นธรรมชาติ  ให้ทุกสิ่งระบายถ่ายเทกันตามธรรมชาติ ไม่มีการทั้งการผลักต้าน ไม่มีทั้งการไขว่คว้าแสวงหาสิ่งใด  เป็นการวางใจต่อสรรพสิ่งให้ดำเนินไปตามธรรมชาติของมันเอง โดยไม่มีการเข้าไปจัดสรร บงการ ไม่มีการควบคุมใดๆ


         การปฏิบัติธรรมแบบไร้การปฏิบัตินี้  ต้องดำรงชีวิตไปตามปกติ  เป็นพระหรือนักบวช ก็ใช้ชีวิตไปตามปกติในการทรงธรรม ทรงวินัย แล้วดำรงสติสัมปชัญญะอยู่กับข้อวัตรปฏิบัติจนสติพัฒนาขึ้นตามลำดับ ไม่มีทั้งการเคร่งครัดหรือไม่เคร่งครัด แต่รู้ตัวอยู่เสมอในการยืน เดิน นั่ง นอน  มีสติในการคู้ การเหลียวมอง มีสติในขณะบิณฑบาต กวาดวัด มีสติในการมองสตรีหรือบุรุษ แล้วมองเห็นจิตของตัวเองตามความเป็นจริงไปแต่ละวัน จนสติมั่นคงตามลำดับ


          หากเป็นฆราวาส ก็มีชีวิตอยู่ตามความเป็นจริง  มีสติรู้ตัวขณะหวีผม แต่งตัว มีสติในการอยู่กับครอบครัวหรือการสัมพันธ์กับผู้คนต่างๆ มองเห็นจิตที่กำลังเคร่งเครียดเพราะธุรกิจการงานว่าแตกต่างกับจิตที่ปลอดโปร่งสบายใจเวลาไปวัดอย่างไร  ชอบกินอาหารอะไร ชอบแต่งตัวแบบไหน ก็รู้ก็เห็นจิตภายในของตนตลอดเวลา มีความรู้ตัวอยู่อย่างนี้บ่อยๆเนืองๆ ทุกอารมณ์และทุกเหตุการณ์ย่อมถือเป็นกรรมฐานทั้งหมด เป็นการปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวัน


            การปฏิบัติแบบไร้การปฏิบัตินี้  ในสายตาของบุคคลภายนอก จะมองไม่ออกว่าบุคคลนั้นได้ปฏิบัติธรรมตลอดเวลา  ยิ่งเป็นฆราวาสที่ไม่ต้องมีพระวินัยตามพุทธบัญญัติมาควบคุมบังคับด้วยแล้วยิ่งปฏิบัติสนุก  เพราะไม่ต้องวางมาดใดๆและไม่ต้องแบกความคาดหวังของใครๆ ไม่ต้องระวังรักษาธรรมเนียมหรือความเลื่อมใสของใคร แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยในการที่จะออกบวชได้ ก็ยินดีออกบวชเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ดีกว่าจะเอาเวลาและพลังที่มีอยู่ ให้สูญหายไปกับความคับแคบในชีวิตฆราวาสซึ่งเกื้อกูลผู้อื่นได้น้อย


            การปฏิบัติธรรมในยุคสมัยใหม่  สมควรที่พวกเรามาใส่ใจและมาทำความเข้าใจต่อ “วิถีแห่งการปฏิบัติธรรม” ในประการหลังนี้ให้มากขึ้น เพราะเหตุว่า พวกเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เห็นป่าเขาเหมือนสมัยหลวงปู่หลวงตาอีกแล้ว  สมัยเมื่อยังเป็นพระบวชใหม่ ครูบาอาจารย์ท่านขึ้นไปบนยอดเขาห้ามไม่ให้ลงมารับผ้าป่า ท่านบอกว่า “ให้รีบปฏิบัติเสียแต่ตอนนี้ เพราะวันข้างหน้าจะไม่มีป่าให้พระเข้าไปปฏิบัติอีกแล้ว” จึงได้ตัดสินใจทิ้งลาภสักการะมุ่งการปฏิบัติ ท่านบอกว่าพวกเธอจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่จะได้อยู่ในป่าอย่างอิสระแบบนี้


           ต่อมาไม่นาน ภูเขาและป่าไม้ทั้งหลายก็กลายเป็นอุทยานแห่งชาติ      พอมาถึงวันนี้ เราจึงเห็นแต่พระป่าที่เหลือแต่บาตรและสีจีวรพอเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงไว้เป็นส่วนใหญ่ แต่ชีวิตของพระป่าที่เราเคยอ่านด้วยความประทับใจ ต่อไปจะเริ่มเหลือเพียงตำนาน  นี้คือเหตุผลหนึ่งที่พยายามถ่ายทอดคำสอนในแง่มุมต่างๆออกมาสู่ชาวโลกเพื่อเกื้อกูลผู้คนให้ทันยุคทันสมัย


           การปฏิบัติแบบเข้าไปกระทำ  หากต้องการบำเพ็ญให้ได้ผล  จงดั้นด้นขึ้นทางตอนเหนือของประเทศลาว สิบสองจุไท สิบสองปันนา หรือทางรัฐฉานของพม่า ซึ่งห่างไกลเทคโนโลยีและผู้คนส่วนใหญ่จิตใจยังสะอาดบริสุทธิ์คล้ายสมัยหลวงปู่มั่นอยู่  สถานที่อันบริสุทธิ์เหล่านั้นย่อมบำเพ็ญสมาธิและอภิญญาจิตให้เกิดขึ้นได้ง่าย และควรไปอยู่ให้ได้ไม่น้อยกว่า ๓ ปี


                ส่วนท่านใดที่ไม่อยากไปไหนและยังต้องการอยู่ในสังคมแบบนี้  ขอให้หันมาปฏิบัติแบบ “ไร้การปฏิบัติ”นี้    จึงจะสามารถประคองจิตของตนได้ในท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน


                การปฏิบัติแบบนี้ไม่ต้องอาศัยห้องกรรมฐานและไม่ต้องหลบเข้าไปในป่า  แต่คือการกล้าเผชิญหน้ากับความจริงของชีวิต  เอาสติสัมปชัญญะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการปกป้องคุ้มครองกายและใจตลอดเวลา  ค่อยๆกำด้ามมีดทีละน้อย จนด้ามมีดค่อยๆสึกกร่อนตามลำดับ  ไม่ว่าเหตุการณ์ใดผ่านเข้ามา  พยายามรู้สึกตัวอยู่เสมอ ให้สิ่งนั้นเกิดแล้วดับไปโดยตัวมันเอง


               การปฏิบัติแบบนี้จะอยู่ตรงไหนก็ปฏิบัติได้  อยู่คนเดียวหรืออยู่ท่ามกลางคนเป็นร้อย ก็ปฏิบัติเท่ากัน  จะเป็นพระเป็นโยม ก็ปฏิบัติได้ทั้งนั้น  เพราะความรู้สึกตัวนี้มีอยู่แล้วกันทุกคน


              ความจริงแล้วพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคลที่เราพากันไปกราบ ท่านก็อยากจะบอกให้พวกเราทราบถึงเคล็ดลับในเรื่องนี้แต่ท่านถ่ายทอดออกมาไม่ได้  เพราะการบรรลุธรรมเข้าถึงธรรมนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนการถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นเข้าใจเป็นอีกอย่างหนึ่ง


             เหมือนคนกินข้าวอิ่มเป็นอย่างหนึ่ง แต่คนที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดว่าการอิ่มข้าวเป็นอย่างไรนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง พระกรรมฐานทั้งหลายท่านจึงไม่ค่อยพูดอะไร ได้แต่บอกว่า“ให้ปฏิบัติไป สักวันหนึ่งจะรู้เอง” แล้วท่านก็พานั่งหลับตา เพราะท่านรู้ว่าถึงพูดไปเท่าไหร่ก็ไม่มีทางเข้าใจในสิ่งที่ท่านรู้ท่านเห็นเป็นแน่นอน


             พระที่ท่านบรรลุแล้วส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยอยากแสดงธรรม  ยกเว้นท่านที่เคยสร้างบารมีมามากในทางเกื้อกูลหรือเคยปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน พลังเมตตากรุณาที่สร้างสมมาข้ามภพข้ามชาติย่อมทำให้ท่านรู้หน้าที่ตามวาสนาบารมี จึงอนุเคราะห์เกื้อกูลด้วยการแสดงธรรมบ้าง ด้วยการอนุเคราะห์ทางโชคลาภบ้าง ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อให้คนเกิดความเลื่อมใสบ้าง ตามอุปนิสัยวาสนาบารมีของแต่ละท่านแต่ละองค์  อันเป็นเรื่องเฉพาะตนของท่านโดยแท้

 


                                                                                                 คุรุอตีศะ
                                                                                         ๑๒  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๗