สรุปคำสอนในรอบ ๖ เดือน

สรุปคำสอนในรอบ ๖ เดือน

 

 

       นับตั้งแต่เริ่มเขียนธรรมะลงในเว็บไซต์นี้มาเป็นเวลา ๖  เดือน  จากแต่เดิมมาไม่คิดว่าจะเขียนได้มากและนานขนาดนี้มาก่อน  จึงขออนุโมทนาต่อทุกคนที่ติดตามอ่านธรรมะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

       การที่หลายคนสามารถอ่านธรรมะมาได้ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๖ เดือนนั้น  ต้องมีความตั้งใจจริงและมีความเคารพในคำสอนไม่น้อยเลย  และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็มีแต่เขียนให้อ่านฝ่ายเดียว ไม่ได้เปิดโอกาสให้สนทนาหรือสอบถามอะไรเหมือนที่อื่น ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการปูพื้นความเข้าใจและความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นเสียก่อน

 

         เพราะในเรื่องของศึกษาธรรมะนั้น ความเคารพย่อมมาก่อน หากยังไม่เกิดความเคารพและยอมรับในตัวผู้สอน  ธรรมะนั้นก็ยังเป็นของเล่นและให้โทษแก่ผู้ที่คะนอง โดยเข้าใจว่า จะทำแบบการเรียนวิชาการต่างๆในทางโลกได้  ด้วยเหตุนี้ จึงเขียนให้อ่านฝ่ายเดียว โดยยังไม่เปิดโอกาสให้ไต่ถามหรือเปิดช่องสนทนาตามที่นิยมกันทั่วไปในสมัยนี้

 

           หลังจากที่ใช้เวลาผ่านไปถึงครึ่งปี  ในการปูพื้นความเข้าใจและความเคารพยำเกรงต่อคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ถึงตอนนี้ก็คิดถึงหัวอกของผู้ที่ตั้งใจจริงและติดตามอ่านธรรมะมาเป็นเวลานาน  จึงอยากสรุปทิศทางของคำสอนนั้นว่าเป็นอย่างไร  ที่สอนและถ่ายทอดตลอดมานั้นเป็นธรรมะอะไร เหตุใดไม่เหมือนที่เคยรู้จักและไม่เหมือนที่อื่น  ซึ่งหลายคนคงสงสัยอยู่ไม่น้อย

 

          ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจไว้เป็นลำดับแรกว่า  การสอนพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเราตลอดร้อยปีมานั้น  เราจะเน้นการสอนธรรมะแบบวิชาการ คือ สอนให้จำหัวข้อธรรมะหรือให้วิจัยวิจารณ์หัวข้อธรรม คือ เป็นนักวิชาการธรรมะเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้มุ่งนำมาใช้ในชีวิตจริง

 

          เราจึงรู้สึกกันโดยทั่วไปว่า ธรรมะเป็นเรื่องของพระหรือเรื่องในวัด และคนชาวบ้านนั้นไม่สามารถมีธรรมะหรือไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้  เราจะถูกปลูกฝังให้เข้าใจว่าธรรมะกับการดำรงชีวิตประจำวันนั้นไปด้วยกันไม่ได้แบบนี้มาตลอด นี้คือความเข้าใจของผู้คนโดยทั่วไปที่ถูกแบ่งแยกระหว่างธรรมะกับทางโลกจนชินเคย  ปริยัติกับปฏิบัติถูกจับแยกจากกันตลอดมา  ทั้งที่พระบรมศาสดาและครูบาอาจารย์ผู้ทรงภูมิธรรมทั้งหลายท่านไม่เคยบอกว่าต้องแยกกัน

 

           การศึกษาธรรมะในลักษณะเพื่อให้แตกฉานและลึกซึ้งในคำสอนเช่นนั้น เป็นหน้าที่พุทธบุตรผู้ที่จะต้องเป็นศาสนทายาทในการสืบทอดพระศาสนาโดยตรง  ผู้ที่บวชเข้ามาในศาสนา ย่อมถือว่าคือนักรบแห่งกองทัพธรรม นอกจากจะรบกับกิเลสที่มีอยู่ในใจของตนเองที่ติดอยู่ขันธสันดานมาตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส  ก็ยังต้องมีหน้าที่ศึกษาคำสอนให้แตกฉานให้เข้าใจ และต้องมีความรู้ให้กว้างขวางเพื่อจะได้เผยแผ่คำสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

 

          เปรียบเหมือนคนที่จะเป็นนักรบที่สามารถ ก็ต้องรู้จักวิธีใช้อาวุธทุกชนิดและมีความรู้อย่างอื่นที่จำเป็นสำหรับทหาร แต่คนที่มีชีวิตเป็นชาวบ้านตามธรรมดาไม่จำเป็นต้องรู้อย่างนั้นก็ได้

 

           หน้าที่ของพระที่บวชแล้วคือหน้าที่พุทธบุตร ย่อมต้องรู้ธรรมะลึกซึ้งและกว้างไกล อันเป็นความสำคัญและจำเป็นต่อการสืบศาสนธรรมคำสอนและการประกาศเผยแผ่คำสอน อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก  นอกจากนั้นยังต้องปฏิบัติให้ถึงธรรมตามสมควรแก่ธรรม จึงจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ เหตุนั้น การศึกษาและการปฏิบัติธรรมเช่นนั้นจึงจำเป็นสำหรับท่าน

 

            แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไป ธรรมะที่จำเป็นสำหรับจิตใจ ย่อมต้องการความสบายใจและได้มีจิตที่ดีงาม มีกำลังใจสร้างบุญสร้างกุศลและทำหน้าที่ของตนได้ดี คนส่วนใหญ่นั้น ย่อมต้องการกำลังใจในการดำรงชีวิตประจำวัน มีความสุขและมีความเข้าใจในครอบครัว มีพลังในการทำการงานเป็นหลักใหญ่ ไม่ต้องการสิ่งใดมาเพิ่มความเคร่งเครียดให้แก่ชีวิตอีก ธรรมะอย่างที่พยายามสอนมาเหล่านี้จึงเหมาะสมและเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

 

             ที่กำลังสับสนกันอยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่  เพราะผู้คนทั้งหลายไม่ได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และสิ่งนี้แหละที่ทำให้การศึกษาธรรมะและการปฏิบัติธรรมพลอยมีปัญหาตามไปด้วย  ความจริงแล้วหากเรารู้ตัวเราตามความเป็นจริง ปัญหาต่างๆในชีวิตจะลดลงไปมาก

 

            การรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ก็ยกตัวอย่างเช่น เรามีชีวิตจริงมีสามีมีภรรยา มีลูก มีหน้าที่การงานเหมือนคนปกติทั่วไป  ธรรมะของเราก็คือธรรมะที่จะนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หากเราเอาแต่นั่งสมาธิและเคร่งครัดอยู่ในศีลแบบคนวัด  เราจะต้องเกิดความอึดอัดและมีความเคร่งเครียดไม่มีความเข้าใจกันเป็นธรรมดา  ท่านจึงเน้นว่าผู้ครองเรือนนั้น ชีวิตที่เหมาะสมก็คือการครองตนอยู่ในศีล ๕ แล้วเจริญสติปัฏฐานตามแบบฆราวาส แล้วชีวิตจะมีความสุขและจะเป็นคนใจดี เป็นคนใจบุญอย่างเป็นไปเอง  หากจะเน้นการทำสมาธิต้องได้รับอนุญาตจากคู่ครอง แล้วสมาทานศีล ๘ จึงจะสมควร

 

            ส่วนการจะคร่ำเคร่งกับการนั่งสมาธิตามรูปแบบนั้น  คู่ครองของเราต้องมีความพร้อมและต้องการความสงบเหมือนกัน มิฉะนั้น หากเรานั่งสมาธิมากเท่าไหร่ ราคะและโทสะจะมากขึ้นเท่านั้น  เพราะการนั่งสมาธิแบบนั้นต้องเว้นขาดจากกามารมณ์ ต้องสมาทานศีล ๘ หรือต้องออกบวชใช้ชีวิตอยู่ในวัด จึงจะเป็นสถานที่อันเหมาะสม หรือต้องมีชีวิตโสดที่มีอิสระและรักความสงบวิเวก อันเป็นภาวะอันเหมาะสมแก่การปฏิบัติสมาธิ ซึ่งภาษาทางพระท่านใช้คำว่า "สัปปายะ" หากทำได้แบบนั้นอัปปนาสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานย่อมเกิดได้โดยง่ายตามที่ท่านนำมาเล่าให้เราฟัง  เหมือนคนที่เรียนจบดอกเตอร์แล้ว นำประสบการณ์ตอนเป็นนักเรียนมัธยมมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศและเพื่อเป็นกำลังใจเท่านั้น

 

            หลายคนอ่านธรรมะในเว็บไซต์แล้วที่ไม่เข้าใจ ว่าธรรมะอะไรหนอ เหตุใดจึงไม่ลึกซึ้งเหมือนธรรมะหลวงปู่ครูบาอาจารย์ที่เราเคยอ่านมาเลย อาจนึกปรามาสอยู่ในใจขึ้นมา ก็ขอให้เข้าใจว่า เหตุที่สอนเน้นเช่นนั้นก็เพราะว่า มุ่งสอนคนที่ใช้ชีวิตจริงในความเป็นฆราวาสที่ไม่มีเวลาทำสมาธิแบบนักบวช  และเหมาะสำหรับผู้ที่มีพุทธิจริตนำหน้าหรือผู้ที่มีปัญญามีสติเป็นธรรมชาติ ก็จะได้ประโยชน์เกิดสมาธิแบบธรรมชาติโดยทันที โดยไม่ต้องหาสถานที่นั่งลงขัดสมาธิทำภาวนาแต่อย่างใด อันเหมาะกับยุคกับสมัย ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีและไม่ได้เข้าไปภาวนาในป่าในถ้ำเหมือนที่ท่านเล่าไว้ในหนังสือ  นี้คือการถ่ายทอดคำสอนที่เหมาะกับจริตนิสัยและให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั่นเอง

 

            การสอนธรรมะในวิธีนี้  ไม่มีการแบ่งแยกว่า นี้คือนักปริยัติ นี้คือนักปฏิบัติ อย่างที่ชอบแบ่งแยกกัน  แต่คือการสอนให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส ได้อยู่กับการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ ไม่ว่าอยู่ในบ้านหรือในป่า เพราะว่าป่าที่รกที่สุดก็คือใจของเราเอง ถ้ำที่ลึกและน่ากลัวที่สุดก็คือใจดวงนี้

 

           การพยายามถ่ายทอดสู่ทุกคนตลอดมา นับระยะเวลาได้ครึ่งปีแล้วนั้น  หากจะพูดแบบหัวข้อธรรมในพระไตรปิฎก สิ่งที่ถ่ายทอดสู่ดวงใจของทุกคนนี้  แท้จริงแล้วก็คือ "สุญญตาธรรม" นั่นเอง

 

           เพียงแต่ไม่ต้องการให้ทุกคนที่อ่านธรรมะ ไม่มามัวสาละวนว่า นี้คือธรรมะอะไร หรือมัวจมอยู่กับความลังเลสงสัย จนพลาดจากประโยชน์คือความว่าง ความเบิกบาน ความสงบจากภายใน

 

           เปรียบเหมือนแม่ครัวที่ใช้ความรู้ความสามารถรอบตัวที่ตนเองฝึกฝนมาช้านาน แล้วปรุงแกงเขียวหวานมาตั้งไว้บนโต๊ะตรงหน้า ผู้บริโภคก็ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องมาสอบถามแม่ครัวว่า ไปเก็บเอามะเขือมาจากแปลงไหน และใส่เครื่องแกงอะไร  แต่เรื่องที่สำคัญและยิ่งใหญ่ก็คือ การตักใส่ปากและรับประทานให้อร่อยและอิ่มหนำสำราญต่างหาก

 

            ดังนั้น ขอให้ทุกคนที่ติดตามอ่านธรรมะมาช้านาน  จงได้สิ้นความวิจิกิจฉานิวรณ์ เลิกลังเลสงสัย จะได้ซึมซับเอาสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ  ที่ถ่ายทอดให้แก่ทุกคนเสมอหน้ากันโดยไม่ได้เห็นตัวหรือรู้จักหน้าตา  แต่ก็ขอให้ทุกคนได้รับทราบเถิดว่า ล้วนได้รับกระแสแห่งความเมตตาและความปรารถนาดีเสมอหน้ากันทุกคน

 

             ขอให้ทุกคนจงดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อโลกและผู้อื่น  หากเราพอมีความสุขพอที่จะแบ่งปันได้  ก็ขอให้แบ่งปันน้ำใจไปสู่ผู้คนที่ขาดแคลน  หยาดหยดแห่งความเมตตาและความมีน้ำใจย่อมสูงค่า โลกใบนี้ร่มเย็นและอยู่รอดปลอดภัยได้ก็ด้วยอาศัยพลังแห่งธรรมะและพลังความรักเมตตาช่วยค้ำจุน

 

              เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนสำคัญอะไร  เพียงเป็นดอกหญ้าก็พอแล้ว

 

              เราไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ดุจพระจันทร์หรือพระอาทิตย์  เพียงเป็นหิ่งห้อยยามค่ำคืนก็พอแล้ว

 

              เราไม่จำเป็นต้องเป็นแม่น้ำหรือทะเลที่กว้างใหญ่  เป็นโอเอซิสกลางทะเลทรายก็พอแล้ว

 

                                                                          ขอพรและเมตตาจงสู่ดวงใจของทุกคน

 

                                                                                         คุรุอตีศะ                                                              

                                                                               ๒๓  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖