พระอริยสงฆ์ผู้ปล่อยวาง

พระอริยสงฆ์ผู้ปล่อยวาง

 

                 ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมานั้น  ต่างเกิดมาตามเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน  บางคนเกิดมาเสวยบุญเก่า  บางคนเกิดมาเพื่อล้างผลาญคู่เวรที่เคยจองเวรกันไว้   บางคนเกิดมาเพื่อใช้กรรมบางอย่าง  บางคนเกิดมาสร้างบุญบารมี  บางคนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญต่อจนสิ้นกิเลสอาสวะเป็นชาติสุดท้าย

 

               ในโอกาสที่วันนี้คือวันครบรอบ ๖๔ ปี ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต  ได้ละสังขารเข้าสู่นิพพาน  ณ  วัดป่าสุทธาวาส  จังหวัดสกลนคร  เมื่อวันที่  ๑๑  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๙๒  หลวงปู่เป็นต้นแบบและเป็นหลักชัยให้กับพระกรรมฐานรุ่นลูก รุ่นหลาน  รุ่นโหลน ได้อาศัยน้อมนำปฏิปทามาเป็นหลักปฏิบัติและหลักใจ  จนทำให้มีผู้รู้ตามเห็นตามเข้าถึงฝั่งแห่งความพ้นทุกข์พร้อมด้วยวิชชาสามมากมายในสมัยปัจจุบัน

 

               และมีท่านผู้หนึ่งที่แม้ออกอุปสมบทเมื่ออายุ ๖๘ ปีแล้ว  ท่านก็ยังก้าวขึ้นสู่ฝั่งแห่งแดนเกษมในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้  ได้โบกธงชัยพระอรหันต์และบันลือสีหนาทประกาศความเป็นของจริงแห่งพระธรรมได้อย่างสง่างาม  และได้ละสังขารจากโลกนี้แล้ว  ซึ่งบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายเพิ่งประชุมเพลิงสรีระของท่านไปเมื่อเวลาบ่ายของวันที่  ๑๐  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖  ที่ผ่านมา  โอกาสนี้จึงใคร่ขอโอกาสขอขมา  น้อมกาย วาจา ใจ ประกาศคุณธรรมและความบริสุทธิ์ของท่านไว้  ณ  ที่นี้ด้วยเศียรเกล้า

 

                หลวงปู่โฮม  ญาณธมฺโม  วัดสุทธิมงคล  ตำบลกระจาย  อำเภอป่าติ้ว  จังหวัดยโสธร   ในสมัยยังเป็นฆราวาสครองเรือนนั้น  เมื่อมีพระอาจารย์มาจากวัดคูหาสวรรค์  จังหวัดลพบุรี  ได้มาสอนกรรมฐานให้บรรดาหมู่ญาติโยม  เพียงการนั่งสมาธิครั้งแรกจิตของท่านก็รวมลง แล้วได้นิมิตไปเห็นวัดถ้ำคูหาสวรรค์ได้  พอออกจากสมาธิก็เล่าให้พระอาจารย์ที่สอนกรรมฐานฟังเป็นฉากๆว่า ถ้ำคูหาสวรรค์นั้นมีสภาพอย่างไรเหมือนคนที่ไปเที่ยวด้วยตาเนื้อมาหยกๆ  จนพระอาจารย์ตกใจว่าทำไมจึงได้สมาธิและได้นิมิตรวดเร็วขนาดนั้น

 

                แม้หลวงปู่จะได้สมาธิถึงเพียงนั้น  ท่านก็ยังต้องครองเรือนต่อไป  ท่านปฏิบัติกรรมฐานอยู่ในเพศฆราวาสอยู่เป็นเวลา  ๑๙  ปี  ต่อมาเมื่อภรรยาของท่านเสียชีวิต  ส่วนตัวท่านเองก็เริ่มเจ็บป่วยเหมือนจะเป็นง่อยและรู้สึกเหมือนว่าตัวเองจะตายในไม่ช้า  จึงได้อธิษฐานออกบวช ท่านได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เมื่อวันที่  ๒๔  พฤษภาคม  ๒๕๓๗  ในขณะที่ท่านอายุได้  ๖๘  ปี

 

                 หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปู่แม้มีฐานะเป็นพระนวกะตามอายุพรรษา  แต่สมาธิภาวนาและจิตภายในของท่านย่อมดุจพระมหาเถระ  เมื่อท่านบำเพ็ญต่อมาในเพศบรรพชิตอันปลอดโปร่งไม่มีภาระของครอบครัว   จนกระทั่งผ่านพรรษาที่  ๔  ท่านได้บรรลุพระอนาคามี   และหลังจากบวชได้  ๙  พรรษา  ท่านก็ได้รับอนุโมทนาจากปวงเหล่าเทพยดาและภพภูมิอันลี้ลับทั้งหลายที่ท่านไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้ว  เป็นผู้พ้นแล้วจากโลกทั้งสาม  พ้นไปแล้วจากกามาวจรภูมิ  รูปาวจรภูมิ  และอรูปาวจรภูมิ   ส่วนมนุษย์ทั้งหลายไม่มีใครรู้สิ่งที่ลี้ลับและเหนือโลกเช่นนี้แต่อย่างใด

 

                หลวงปู่โฮม  เป็นพระที่มีเมตตา  อ่อนโยน  มักน้อย  สมถะสันโดษ  น่าเคารพน่ากราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ  เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่แก่ผู้แสวงหาเนื้อนาบุญทั้งหลาย  เป็นหลักชัยให้กับพระศาสนา เป็นผู้เอาชีวิตและการปฏิบัติของท่านเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ในศาสนานี้ ในธรรมวินัยนี้  ผู้ปฏิบัติจริงและได้ผลจริง ยังคงมีอยู่เสมอ   สมดังคำตรัสของพระพุทธองค์ว่า “ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดหรือเจริญสติปัฏฐานอยู่ไซร้  โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ตราบนั้น”  

 

                เมื่อวันที่  ๒๓  ตุลาคม  ๒๕๕๖  ที่ผ่านมา  หลวงปู่ได้นั่งพิจารณาสภาวธรรมอยู่บนกุฏิ ท่านได้พูดเป็นปัจฉิมวาจาขึ้นว่า “  พอแล้ว...ไม่มาเกิดอีกแล้ว...พอแล้ว..พอ..”  พอวันรุ่งขึ้น วันที่  ๒๔  ตุลาคม  ๒๕๕๖ ลูกศิษย์ได้นิมนต์หลวงปู่ไปฉีดยาที่โรงพยาบาลยโสธร  หลวงปู่ก็อนุโลมตามใจลูกศิษย์ที่มีเจตนาหวังดีอันบริสุทธิ์เพื่อเป็นอานิสงส์แห่งบุญของพวกเขา  แม้จะเป็นผู้ได้วิชชาสาม มีอนาคตังสญาณ รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า รู้เหตุการณ์ในอนาคต  ท่านก็สามารถปล่อยวาง ให้ทุกอย่างเป็นไปตามความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจกฎแห่งกรรม  โดยดวงจิตไม่ความหวั่นไหวใดๆ  แม้กระทั่งจะรู้ทั้งรู้ว่าความตายกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้

 

              ในตอนขากลับจากโรงพยาบาล  หลวงปู่พูดขึ้นว่า  “เจ้ากรรมนายเวรเขามาทวงคืนแล้ว”  หลวงปู่ได้สั่งให้พระอุปัฏฐากที่ติดตามไปนั่งเบาะหลังกับสามเณร  ส่วนตัวท่านเปลี่ยนไปนั่งข้างหน้าคู่กับคนขับ

 

             หลังจากรถออกจากโรงพยาบาลได้ไม่นาน  รถได้พุ่งชนต้นไม้ข้างทางด้านที่หลวงปู่นั่งพอดี  หลวงปู่บาดเจ็บสาหัสแล้วถูกนำส่งโรงพยาบาลแล้วได้มรณภาพละสังขารเมื่อวันที่  ๖  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖  รวมอายุได้  ๘๗  ปี กับ ๒  เดือน  นับอายุพรรษานับแต่วันอุปสมบทมาได้  ๒๐  พรรษา  คณะศิษย์ได้ประกอบพิธีประชุมเพลิงสรีระสังขารของท่านด้วยพิธีอันเรียบง่าย  แต่ยิ่งใหญ่และสูงส่งสำหรับศิษย์ที่แท้จริงของพระตถาคต ผู้มีดวงจิตอันหมดจด  เหนือเกียรติยศ เหนือสมมุติใดๆ เมื่อวันที่  ๑๐  พฤศจิกายน ๒๕๕๖  ดังกล่าว

 

 

               หลวงปู่โฮม  ญาณธมฺโม  ท่านเป็นพระ ป. ๔ เป็นหลวงตาผู้เฒ่าที่บวชตอนแก่  ไม่มีวุฒิการศึกษานักธรรมหรือบาลี ประโยคใดชั้นใดทั้งนั้น  แต่ท่านกลับเป็นผู้เรียนจบชั้นสูงสุดของพระศาสนาอย่างแท้จริง ที่ยิ่งกว่าบาลีนักธรรมใดๆ  การเล่าเรียนพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  ท่านก็เรียนจบแล้วที่กายนี้ ใจนี้ การจาริกธุดงค์หรือห้องกรรมฐานก็คือ กายยาววา หนาคืบนี้ของท่าน  ที่พวกเราทั้งหลายนี้ต่างก็มีกันอยู่ทุคน

 

              หลวงปู่ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่งใดๆในคณะสงฆ์  แต่ดำรงตำแหน่งอริยสาวกผู้โบกธงชัยพระอรหันต์ ที่ไม่ต้องให้ปุถุชนคนใดมาตั้งให้  เป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครมีสิทธิ์มาแต่งตั้ง ไม่ว่าจะเป็นอดีต  ปัจจุบัน  หรืออนาคต

 

              หลวงปู่ดำรง “อริยวงศาคตญาณ”ได้อย่างบริบูรณ์  แม้จะเป็นผู้บรรลุวิชชาสาม  ระลึกชาติได้ รู้เหตุการณ์อดีตอนาคต  แต่ก็หมดจดด้วยอริยกันตศีลไม่หลีกเลี่ยงต่อวิบากกรรมแม้แต่นิดเดียว  ซึ่งพระอริยบุคคลชั้นต่ำลงมา ที่ยังเหลืออัตตาบางท่าน  อาจยังต้องใช้อริยฤทธิ์เพื่อหลีกเลี่ยงวิบากกรรมได้  แต่หลวงปู่ไม่ยอมใช้ฤทธิ์เพื่อหลีกเลี่ยงวิบากกรรมเช่นนั้นแต่อย่างใด เพราะไร้แล้วซึ่งความสำคัญมั่นหมายในสิ่งทั้งปวง มีจิตอันบริสุทธิ์ปล่อยวางได้ตลอดสาย นี้คือพุทธสาวกผู้ยิ่งใหญ่ ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายน้อมเศียรกราบไหว้ด้วยใจเคารพบูชา

 

             หลวงปู่อยู่เป็นฆราวาสก็มีชีวิตที่งดงามตามแบบของฆราวาส  มั่นคงในศีลและประพฤติธรรมตลอดมาเป็นเวลาถึง ๑๙  ปี  ดวงจิตนั้นก็ผ่องแผ้วอยู่ได้ตามฐานะพระอริยบุคคลผู้ยังละกามไม่ได้   และตามธรรมดาของเพศฆราวาสนั้นจะทรงอริยคุณไว้ได้ก็เพียงชั้นโสดาบันหรือสกิทาคามี  หากปรารถนาจะประพฤติปฏิบัติให้สู่มรรคอันยิ่งขึ้นไป  ต้องเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์หรืออกบวชจึงจะเป็นเพศและภาวะอันเหมาะสม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับจิตที่ทรงภูมิถึงขั้นอรหันต์  ต้องอยู่ในรูปแบบบรรพชิตเท่านั้น จึงจะทรงคุณธรรมสูงสุดนี้ไว้ได้

 

            ต่อมาหลวงปู่ก็เป็นผู้มีบุญมากในศาสนา  ได้มีโอกาสออกบวชแม้จะล่วงวัยแล้วถึง  ๖๘  ปี  แต่แม้กระนั้นความชราแห่งกายสังขารก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญของหลวงปู่แม้แต่น้อย  แต่กลับมีวาสนาอันสูงสุดยึดเอาอนาคามิผลและอรหัตผลในชาตินี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

           แม้เป็นพระ ป. ๔ ไม่มีนักธรรมบาลี  ไม่มียศและตำแหน่งใดในสายตาของชาวโลก  แต่นี้คือพระผู้มีทรัพย์ มียศตำแหน่ง  มีปริญญาอันสูงสุดในพระบวรพุทธศาสนาโดยแท้  ในตอนเป็นฆราวาส หลวงปู่อาจด้อยด้วยโลกียทรัพย์ในฐานะที่เป็นชาวบ้านธรรมดา  แต่หลวงปู่ย่อมร่ำรวยกว่าอยู่เสมอด้วยอริยทรัพย์ตลอดมา

 

          และเมื่อออกบวชดำรงตนอยู่ในเพศแห่งบรรพชิต  หลวงปู่ก็มีทรัพย์ มียศ  มีปริญญาอันสูงสุดคือโลกุตรทัพย์อันสมบูรณ์   นี้คือชีวิตที่งดงามพร้อมทั้งในยามเป็นฆราวาสหรือยามออกบวชในศาสนา  นี้คือชีวิตของผู้เต็มเปี่ยม  นี้คือชีวิตของพระจักรพรรดิที่ใจไม่เคยรู้จักความขาดแคลนในสิ่งใด เป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ของมนุษย์ เทวดา มาร อินทร์ พรหม ยมยักษ์ชั่วนิจนิรันดร์.....

 

                สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ   สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด  ปฏิบัติดีแล้ว

                อุชุปฏิปนฺโน  ภควโต   สาวกสงฺโฆ  สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด  ปฏิบัติตรงแล้ว

                ญายปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด  ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

                สามีจิปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด  ปฏิบัติสมควรแล้ว

                ยทิทํ  ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ   จตฺตาริ  ปุริสยุคานิ  อฏฺฐ  ปุริสปุคฺคลา   คู่แห่งบุรุษสี่คู่  นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ

                เอส  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

               อาหุเนยฺโย  เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา

               ปาหุเนยฺโย  เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ

               ทกฺขิเณยฺโย  เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน

               อญฺชลีกรณีโย  เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี

               อนุตฺตรํ  ปุญฺญกฺเขตฺตํ  โลกสฺสาติ  เป็นเนื้อนาบุญของโลก  ไม่มีนาบุญใดยิ่งกว่า  ดังนี้ฯ

 

 

                           ขอน้อมกราบหลวงปู่โฮม  ญาณธมฺโม  พระอริยสงฆ์ผู้ปล่อยวางได้สิ้นแล้ว ด้วยเศียรเกล้า

 

                                                                                       คุรุอตีศะ

                                                                              ๑๑  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖