เรืองของภิกษุนิรนาม

เรื่องของภิกษุนิรนาม


              เรื่องนี้ท่านเจ้าของเรื่องราวแม้จะมีตัวตนและยังมีชีวิตอยู่  แต่ท่านขอสงวนความเป็นส่วนตัวไว้เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะให้ใครรู้จักท่านว่าท่านคือใครและอยู่ที่ไหน  การเขียนถึงเรื่องราวบางอย่างของท่าน จึงจำต้องรักษาความลับของท่านผู้เป็นเจ้าของเรื่องไว้ด้วยความเคารพ


             เราจึงจะขอเขียนและอ่านเรื่องราวของท่านด้วยจุดประสงค์เพื่อน้อมนำเรื่องราวชีวิตของท่านมาเป็นข้อธรรมและเป็นแง่คิดเพื่อประโยชน์แก่จิตใจของเราเป็นสำคัญ  แต่การที่จะค้นหาหรืออยากรู้ว่าท่านเป็นใครและอยู่ที่ไหนนั้นไม่มีความจำเป็นอะไร แต่จะขอเรียกชื่อท่านว่า “ภิกษุนิรนาม”เพื่อสื่อเรื่องราวของท่านไว้  ณ  ที่นี้


              หลังจากภิกษุนิรนามอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  เนื่องจากท่านเคยอยู่ในสังคมในเมืองมาก่อน  ท่านจึงเบื่อหน่ายที่จะอยู่เป็นพระในเมือง  เพราะแต่ละวันผ่านไปด้วยการสวดมนต์ทำวัตร บิณฑบาต แล้วก็ถูกจัดให้ออกกิจนิมนต์สวดศพบ้าง  ขึ้นบ้านใหม่บ้าง งานแต่งงานบ้างเท่านั้น


             โดยเฉพาะงานสวดพระอภิธรรมศพนั้นได้ออกบ่อยมากเหมือนเป็นอาชีพประจำของพระ ซึ่งท่านมองเห็นว่าไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรต้องไปคอยสวดมนต์เพื่อรับซองจากญาติโยมที่เขากำลังทุกข์และโศกเศร้าจากการพลัดพราก ที่พ่อแม่ สามีภรรยา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเขาตาย ที่เขากำลังร้องไห้เสียใจอยู่ตลอดเวลา  การได้รับซองปัจจัยที่เพื่อนพระทั้งหลายพากันดีใจนั้น  มันเทียบไม่ได้กับจำนวนเงินเดือนที่ท่านเคยทำงานมาด้วยซ้ำ  ท่านมาพิจารณาดูชีวิตการออกบวชของท่านว่า “ถ้าอยู่ไปอย่างนี้ การออกบวชของเราก็ไม่มีประโยชน์”


              ด้วยความเบื่อหน่ายต่อหลายสิ่งหลายอย่าง  ท่านจึงมุ่งหน้าออกจาริกธุดงค์กรรมฐานเพื่อแสวงหาความวิเวกเพื่ออบรมจิตไปทั่วประเทศ ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานทั้งหลายท่านภิกษุนิรนามก็ไปขอเรียนกรรมฐานมาแทบทั้งหมด  ครูบาอาจารย์เหล่านั้นท่านเพียงเห็นภิกษุนิรนาม  ท่านก็อมยิ้มแล้วก็ให้โอวาทสั้นๆว่า “ท่านมีของเก่ามาแล้ว  ขอให้หาสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่งที่เป็นอิสระไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการงานอะไรเหมือนเจ้าอาวาสทั้งหลาย แล้วก็บำเพ็ญต่อไป  จงทำกิจส่วนตนคือปฏิบัติไปด้วย แล้วก็เกื้อกูลคนอื่นไปด้วย นั่นแหละคือทางของท่าน”


              ท่านภิกษุนิรนามแม้จะได้รับโอวาทจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ทรงภูมิจิตภูมิธรรมอันสูงส่งเช่นนั้น ท่านก็ยังไม่ไว้ใจในตัวเอง  เพราะที่ท่านออกบวชนั้น  ปรารถนาจะให้บรรลุเป็นพระอรหันต์จบกิจในพรหมจรรย์เสียก่อน  จึงจะช่วยเหลือและกลับไปคลุกคลีอนุเคราะห์ปุถุชนคนทั้งหลาย ตามปฏิปทาของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น  ที่ท่านมีหลักการอบรมศิษย์ตลอดมาว่า ต้องทำตัวเองให้รอดก่อน การช่วยผู้อื่นค่อยทำทีหลัง  ภิกษุนิรนามท่านก็ยึดมั่นในปฏิปทานี้ตั้งแต่วันแรกที่อุปสมบท


             แม้จะมีครูบาอาจารย์ที่บารมีสูงส่งหลายองค์ตักเตือนว่า “ให้ทำกิจส่วนตนไปด้วย  และทำกิจเพื่อผู้อื่นไปด้วย เพราะชาวโลกทั้งหลายมีความทุกข์ร้อนมากเกินไป  อย่าไปรอให้บรรลุเป็นพระอรหันต์เสียก่อนจึงจะเกื้อกูล  เพราะวาสนาของท่านสร้างมาอย่างนั้น” ก็ตาม  แต่ท่านภิกษุนิรนามก็ไม่อาจปลงใจตามคำตักเตือนด้วยความหวังดีของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เหล่านั้น  เพราะท่านยังรู้ตัวเองดีว่า มองเห็นสตรีคนใดก็ยังสวยและพึงใจอยู่ลึกๆ  แม้จะไม่เคยคิดสึกแต่ก็จิตลึกๆยังมองผู้หญิงสวยอยู่ แล้วจะให้ไว้วางใจตัวเองได้อย่างไร  ท่านจึงดั้นด้นจาริกธุดงค์ต่อไป ทั้งเหนือ อีสาน พม่า ลาว จนกว่าจะมั่นใจตัวเองได้ว่ามีความมั่นคงของจิตพอสมควรแล้วจึงจะตกลงหาสถานที่พำนักเป็นหลักแหล่งต่อไป


              จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านได้พำนักอยู่บนดอยแห่งหนึ่งในตอนกลางของภาคอีสาน บริเวณแถบนั้นเคยมีประวัติว่า มีพระมหาเถระที่เป็นหลักชัยของพระกรรมฐานสายวัดป่าท่านเคยบำเพ็ญจนถึงฝั่งแห่งความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งท่านมาทราบประวัตินั้นในภายหลังในเวลาต่อมา


             ในวันนั้น หลังจากฉันอาหารในบาตรมื้อเดียวอันเป็นกิจวัตรและเป็นธุดงควัตรของท่านนับตั้งแต่วันอธิษฐานออกจาริกธุดงค์  อาหารที่บิณฑบาตได้ในวันนั้น มีเพียงผักกับน้ำพริกของชาวบ้านที่เขากินอยู่ทุกวันเท่านั้น  แต่รู้สึกมีโอชารสและร่างกายคล่องแคล่วโปร่งเบากว่าทุกวัน  ท่านภิกษุนิรนามได้เจริญพระกรรมฐานและเดินจงกรมตลอดทั้งวัน  ในตอนกลางคืนก็เดินจงกรมสลับกับการนั่งอยู่อย่างนั้น โดยไม่รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียแต่อย่างใดเลย จิตสงบจนถึงรุ่งเช้าของวันใหม่


              ขณะที่ท่านกำลังหันมองดูดวงอาทิตกำลังอุทัยขึ้นมา  ช่วงจังหวะนั้นมีเสียงเพลงลอยมาตามสายลมในยามเช้า แต่ก็ได้ยินเนื้อร้องชัดเจน เป็นเพลงที่ท่านภิกษุนิรนามเคยคุ้นเคยดี เพราะเป็นเพลงโปรดมาก่อนสมัยยังเป็นฆราวาส  เสียงเพลงได้ลอยตามสายลมมาว่า....


           “....บ้านพี่อยู่สุโขทัย  เพราะบ้านพี่ไฟไหม้  ถึงลามาไกลทิ้งถิ่น  ดั่งคนจร  จากที่นอน ที่อยู่ที่กิน  เปรียบเหมือนดังนกขมิ้น  ยุพินจงโปรดเห็นใจ...
           ...พี่เสี่ยงโชคด้วยน้ำตา  เหมือนคนไม่มีค่า  ทุกวันเวลาร้องไห้  เปรียบคนจร ขาดที่นอน เที่ยวเร่ร่อนไป ตามหานางไกลใกล้  จงเห็นใจคนอกตรม...
          ...จากดวงใจที่ไร้รังนอน  ขอทรามวัยใจอ่อน  อุ้มชูให้อยู่สุขสม  ปลอบใจยามเศร้า ยามหนาวให้มีผ้าห่ม อย่าทิ้งให้พี่ขื่นขม  ระทมเหมือนสุโขทัย.....................................”


            จิตที่ได้รับการบ่มจนได้ที่ตลอดมานับตั้งแต่การออกจาริกธุดงค์  สมาธิที่เป็นกมฺมนิโย ที่ควรแก่การงาน ประกอบด้วยสติที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ในขณะนั้น  ทำให้จิตของท่านพิจารณาสภาวธรรมอย่างไร้อัตตาเข้าไปจัดการ  เกิดปัญญา น้อมลงสู่วิปัสสนามองเห็นสภาพจิตของของผู้คนที่ระทมทุกข์และแสวงหาความรักและโหยหากัน  ก็เพราะไม่มีสติรู้กาย รู้ใจของตัวเอง จิตจึงไขว่คว้าล่องลอยแสวงหาผู้หญิงเพื่อมาดับความเหงาความว้าเหว่ในใจของตัวเอง ชาติแล้วชาติเล่า  หัวใจของผู้หญิงเรียกร้องโหยหาผู้ชาย  หัวใจของผู้ชายก็คร่ำครวญหาผู้หญิง  กี่ภพกี่ชาติก็โหยหาร้องไห้คร่ำครวญกันอยู่แบบนี้  ไม่เคยมีวันจบสิ้นเลย  เมื่อใดจิตนี้อยู่กับกายอยู่กับใจ  การคร่ำครวญร้องไห้แบบในเนื้อเพลง “สุโขทัยระทม” ก็ย่อมไม่มี 

     
              จิตของท่านภิกษุนิรนามได้กลายเป็นมรรคสมังคีรวมลงทันทีในขณะนั้น สังโยชน์ที่ห่อห้อมดวงใจให้เวียนเกิดเวียนตายในวัฏฏสงสารมานานก็ถูกถอนรากถอนโคน  สมาธิที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ก็หยั่งลงสู่ดวงจิตอย่างเป็นไปเองในขณะจิตนั้น  เกิดญาณหยั่งรู้ขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติว่า บัดนี้จิตดวงนี้ได้กลายเป็นคนใหม่ที่ตายไปแล้วจากคนเดิม    รู้ชัดเจนขึ้นมาในจิตว่า ที่ท่านแสวงหากันมาทั้งหมดนั้นและที่ท่านกล่าวไว้ในตำรา แท้จริงแล้วก็คือ “สิ่งนี้”นั่นเอง  และ”สิ่งนี้”ก็ไม่มีภาษาใดในโลกจะสื่อความหมายให้ใครเข้าใจแจ่มแจ้งได้เลย


             หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา  บุคลิกของท่านภิกษุนิรนามก็ค่อยๆเปลี่ยนไป จากที่เคยดูสำรวมเคร่งครัดเคร่งขรึมอยู่ตลอดเวลา  ท่านก็ดูเป็นธรรมชาติและแจ่มใสขึ้น  เพื่อนพระภิกษุด้วยกันหรือแม้แต่กระทั่งญาติโยมก็รู้สึกแปลกใจว่า ทำไมไม่ค่อยเห็นท่านภิกษุนิรนามนั่งกรรมฐานและเดินจงกรมเหมือนแต่ก่อน  ท่านจะเดินเหมือนเดินเล่นเสียมากกว่า เหมือนเป็นพระไม่ได้ปฏิบัติอะไร  ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ท่านปฏิบัติดูเอาจริงเอาจังน่าเลื่อมใส  แต่มาตอนนี้ดูเหมือนหย่อนยานลงไป  แต่ก็ไม่มีใครกล้าถาม เพราะดูท่านน่าเกรงขาม ดูมีตบะบารมีผิดกว่าพระทั้งหลาย และดูเหมือนท่านจะมีบารมีบางอย่างมากกว่าที่ท่านเคยปฏิบัติเคร่งครัดอยู่ด้วยซ้ำ


            หลังจากวันที่ภิกษุนิรนามได้ฟังเพลง”สุโขทัยระทม” ในวันนั้นเป็นต้นมา ท่านก็รู้เฉพาะตัวของท่านว่า การฟังเพลงหรือร้องเพลงในสมัยก่อน กับการฟังเพลงในวันนี้  เป็นการฟังเพลงที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากสมัยยังใช้ชีวิตฆราวาส  เพลง”สุโขทัยระทม”เมื่อก่อน  กับเพลง”สุโขทัยระทม”ในวันนี้  แม้จะเป็นเพลงเดียวกันในเนื้อร้องทำนอง  แต่ภายในจิตของท่านเมื่อได้ยินเพลงนี้นั้น  แตกต่างกันดั่งฟ้าและดิน


             ภายหลังจากวันนั้นประมาณหนึ่งเดือน “พระในป่า” ผู้คอยปกป้องภิกษุนิรนามในแบบมิติที่เร้นลับตลอดมา  ได้บอกท่านภิกษุนิรนามองค์นั้นว่า “ถึงเวลาที่ท่านจะต้องไปช่วยผู้คนในเมือง คนที่เขามีวาสนาบารมีสร้างมากับท่าน  ท่านจะต้องไปช่วยเขา  เพราะคนเหล่านั้นบางคนก็กำลังลุ่มหลงหมกจมอยู่กับสังคมในทางโลก ไม่รู้เดือนไม่รู้ตะวัน  บางคนก็ทำงานใช้ชีวิตไปวันๆ มีชีวิตล่องลอยอย่างไร้จุดหมาย  ท่านจะมาหาความสุขความสบายจากความสงบวิเวกแบบองค์อื่นเขาไม่ได้  เพราะท่านเคยเป็นใหญ่ เคยสร้างกรรมไว้มากในปางก่อน  โดยเฉพาะกรรมกับผู้หญิงที่ท่านเคยมีเมียมามาก  ท่านจะต้องชดใช้เขาและนำพาเขาเข้าสู่ทางธรรม  ท่านจึงจะสิ้นเวรกรรมและจากโลกนี้ไปแบบองค์อื่นที่ไม่ต้องมีเวรกรรมอย่างท่านได้


             ลูกหลานของท่านในอดีตยังจมโคลนตมอยู่ในวังวนกิเลสตัณหา บางคนก็กำลังจะจมน้ำตายอยู่รอมร่อ  ขอให้ท่านไปช่วยเขา จะเอาตัวรอดสบายไปคนเดียวนั้นไม่ใช่ทางของท่าน  แต่เมื่อไปอยู่กับเขา ท่านห้ามบอกเลขให้หวยหรือทำนายทายทักทำตัวเป็นผู้วิเศษเด็ดขาด  มิฉะนั้นจะสอนพวกเขาไม่ได้  เขาจะไม่เอาธรรมะ แต่จะรอคอยเอาเลขหวยหรือให้เป่าหัวรดน้ำมนต์แทน  ต้องให้อายุเลย ๖๐ ไปแล้ว จึงจะอนุโลมให้ทำได้ จำเอาไว้”


             ท่านภิกษุนิรนามท่านก็เตร็ดเตร่ไปอย่างอิสระ พยายามที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้คน  ยิ่งถูกพระอาจารย์ในป่าสำทับเอาไว้ว่า “เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทำกรรมไว้มาก จะต้องมาใช้กรรมกับพวกผู้หญิง” ท่านจึงยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ  เพราะตั้งแต่เด็กจำความได้ ท่านก็รู้สึกว่า สิ่งใดๆในโลกนี้  ไม่มีสิ่งใดที่ท่านหวาดหวั่นและเกรงกลัวเท่ากับผู้หญิง  และท่านก็พยายามทั้งชีวิตในการหนีผู้หญิงตลอดมา  แต่ก็ปรากฏว่า ยิ่งพยายามหนีเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนจะยิ่งเจอ  จนในที่สุดท่านจึงตัดสินใจยอมรับความจริงตามคำสั่งของ “พระในป่า”ว่า ชดใช้กรรมกันไปตามที่ท่านว่านั่นแหละดีที่สุด   ส่วนท่านจะบรรลุคุณธรรมในขั้นใดนั้นย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของท่าน พวกเราคงไม่สามารถก้าวล่วงอยากรู้อยากเห็นอะไรไปมากกว่านี้


               ภิกษุนิรนามท่านยังคงนิรนามจนทุกวันนี้  จนกว่าจะถึงเวลาหนึ่งที่ท่านจะยอมเปิดเผยไม่ต้องเป็นภิกษุนิรนามอีกต่อไป  ในวันนี้เราจึงคุยถึงท่านกันได้เพียงเท่านี้  ในวันหน้าเราจะขออนุญาตท่านเพื่อคุยกันต่อ


                                                                             คุรุอตีศะ
                                                                  ๙  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖