ไม่อาลัยต่ออดีต

  ไม่อาลัยต่ออดีต

 

            อดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  ไม่อาจหวนคืนกลับมา จงปล่อยให้ทุกสิ่งผ่านไปดุจสายน้ำและสายลม  อย่าได้จมอยู่กับอดีตอยู่อีกเลย  สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันก่อน เดือนก่อน ปีก่อน  สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล้วนผ่านไป  สิ่งที่เหลือไว้เป็นเพียงสัญญาขันธ์ คือความทรงจำ  ไม่อาจย้อนคืนสิ่งใดได้แม้สักสิ่งดียว 

 

             แต่เราทั้งหลายส่วนใหญ่  ก็ล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ใจ หม่นหมองใจ จากการครุ่นคิดถึงอดีตอยู่เสมอ  น้อยนักที่เราคิดถึงอดีตแล้วเราจะมีความสุข คนน้อยคนนักที่คิดย้อนไปในหนหลัง แล้วจะเกิดความปลื้มปีติและเบิกบาน  นอกเสียจากว่าในอดีตที่ผ่านมานั้น เราได้ทำคุณความดี เสียสละในสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนกระทั่งประทับอยู่ในดวงใจกลายเป็นอนุสสติ ที่คิดถึงครั้งใดก็เกิดความภูมิใจ ปลื้มใจในความดี ความเสียสละที่ตนเคยได้กระทำบำเพ็ญ  การคิดถึงสิ่งที่ทำในอดีตเช่นนั้นจึงจะไม่ทำให้เกิดความหม่นหมอง

 

             เพราะเหตุที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ เมื่อคิดย้อนไปในอดีตครั้งใด  หัวใจมักจะเกิดความหดหู่และเศร้าหมอง เพราะความผิดพลาดบกพร่องในอดีตที่ผ่านมา เพราะเป็นธรรมดาว่าปุถุชนคนทั่วไปนั้น มีโอกาสน้อยครั้งนักที่จะคิดสร้างกุศล คิดบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา  ส่วนใหญ่จะปล่อยใจให้ไหลไปตามกิเลสตัณหาที่ชักพาใจให้ไขว้เขว ไหลไปตามโมหะ ความหลง ไม่ค่อยมีสิ่งเป็นกุศลสักเท่าไหร่ นี้คือสภาพจิตใจของคนทั่วไป

 

             ด้วยเหตุนี้  พระพุทธองค์และปวงเหล่าพระอริยเจ้าทั้งปวง จึงสอนให้เราทั้งหลายไม่อาลัยต่ออดีต  เพราะอดีตของเราส่วนใหญ่ เมื่อคิดถึงครั้งใด มักมีแต่เรื่องราวที่พาใจของเราให้เศร้าหมองขุ่นมัว  คิดแล้วมีแต่ความไม่สบายใจ  มีความทุกข์ใจ ไม่ใช่ความรู้สึกที่เป็นพุทธะคือ รู้ ตื่น และเบิกบาน

 

             การเจริญสติก็ดี การทำสมาธิภาวนาก็ดี การปฏิบัติวิปัสสนาก็ดี  แท้จริงแล้ว ชื่อเหล่านี้ก็คือวิธีการฝึกและอบรมจิตของมนุษย์เพื่อไม่ให้เยื่อใย อาลัยอาวรณ์ต่ออดีต ไม่ให้ไปพะวงอนาคตซึ่งยังมาไม่ถึง เพราะความทุกข์ของคนเราล้วนมาจากจิตที่ออกนอกตัว ไม่ไหลไปในอดีต ก็ไหลไปอนาคต  เมื่อใดจิตเป็นปัจจุบัน ความทุกข์เหล่านั้นก็ดับลง เพราะจิตไม่มีการปรุงแต่งอีกต่อไป  ในบทสวดบังสุกุลพระท่านจึงสวดว่า "เตสํ วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบระงับสังขารคือการที่จิตปรุงแต่งเสียได้ เป็นความสุข"

 

             การไม่คิดถึงอดีต  ไม่คิดถึงอนาคตนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆก็จะทำได้เลย  ท่านจึงสอนว่า "ให้อยู่กับปัจจุบัน" และการอยู่กับปัจจุบันนั้น  คนทั่วก็ไปยากจะเข้าใจอีกว่าจะอยู่อย่างไร และอยู่แบบไหน ท่านจึงมีอุบายและวิธีการต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่มีจริตนิสัยแตกต่างกัน  พระไตรปิฎกจึงมีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และการเจริญกรรมฐานจึงมีไว้ถึง ๔๐ วิธี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสมถภาวนา คืออุบายทำใจให้สงบ  ส่วนวิปัสสนานั้นส่วนใหญ่จะกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร

            

             การอยู่กับปัจจุบันนี้แหละคือการปฏิบัติธรรม เมื่อจิตอยู่กับปัจจุบันเมื่อใด  ความทุกข์ ความวิตกกังวลก็ดับไปเมื่อนั้น  สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักตัวสติหรือยังไม่รู้จักวิปัสสนา ท่านก็ให้อุบายท่องคำบริกรรมว่า "พุทโธ"หรือคำบริกรรมอย่างอื่นไปก่อน  คือแทนที่จะสวดมนต์ยาวๆ หรือท่องคาถายาวๆ ก็มานั่งบริกรรมพุทโธหรือคำบริกรรมอย่างอื่นแทน อันนี้คือขั้นตอนของสมถะคือมุ่งให้ใจสงบจากความฟุ้งซ่าน  สำหรับคนที่ยังไม่รู้วิธีการเจริญสติแบบธรรมชาติ หรือการปฏิบัติวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน 

 

             ดังนั้น  หากรู้จักสภาวะของสติว่าเป็นอย่างไร  บุคคลนั้นก็ไม่จำเป็นต้องบริกรรมคำว่าพุทโธหรือคำอื่นอีกต่อไป  แต่ให้รู้กาย รู้ใจ อยู่กับปัจจุบันในขณะนี้ไปเลย เหมือนคนที่อ่านหนังสืออกแล้ว  ก็อ่านหนังสือไปเลย  ไม่ต้องมานั่งประสมสระ พยัญชนะให้เนิ่นช้าและลำบากอีก

 

             รูปแบบการปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้นคือการพยายามสอนการประสมสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การันต์ เพื่อจะได้อ่านหนังสือออก คือการพยายามให้ผู้เข้าปฏิบัติธรรมได้รู้จักอาการของสตินั่นเอง  สำหรับคนที่รู้จักตัวสติที่แท้จริงแล้ว จึงภาวนาได้อย่างสบาย อย่างไร้รูปแบบ  หากจะทำสมาธิ  ก็ทำเพื่อพักจิตเท่านั้น หรือสำหรับท่านที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว ท่านอาจน้อมจิตเข้าสู่อภิญญาเพื่อเกื้อกูลสัตว์โลกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่การนั่งกรรมฐานเพื่อปฏิบัติธรรมอะไร  เพราะท่านปฏิบัติของท่านตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน  ปฏิบัติอยู่เสมอทั้งยืน เดิน นั่ง นอน การมีชีวิตอยู่อย่างนี้แหละคือ การอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง  เป็นการปฏิบัติธรรมที่อยู่เหนือรูปแบบ

 

             เมื่อใดที่คนเรามีสติรู้ตัวในขณะนี้  รู้กาย รู้ใจ ขณะนี้ นั่นแหละคือการอยู่กับปัจจุบัน รู้สึกตัวทั่วพร้อมในขณะนี้  ไม่ว่าขณะนี้จะกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม  ก็ให้รู้สึกตัว มีสติในขณะนี้  นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม นั่นแหละคือการอ่านหนังสือออกแล้ว  หมั่นอ่านหนังสือคือกายและใจนี้บ่อยๆเนืองๆ แล้วความอาลัยอาวรณ์ ความหม่นหมองต่ออดีตจะหายไป  ความอิสระและเบิกบานจะเกิดขึ้นแทน

 

             อดีตก็ผ่านไปแล้ว จงปล่อยให้มันผ่านไป  อนาคตก็ยังมาไม่ถึง จงพักไว้ก่อน  มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันในขณะนี้  รู้ลงไปที่กายขณะนี้ รู้ลงไปที่ใจขณะนี้  นั่นแหละคืออริยมรรค หมั่นอ่านหนังสือคือกายและใจนี้บ่อยๆเนืองๆ  ปัญหาชีวิตทั้งมวลจะคลี่คลายตามลำดับ  ความทุกข์ในหัวใจจะเบาบาง  แสงสว่างจะเกิดขึ้นในหัวใจ  แล้วรุ่งอรุณแห่งชีวิตใหม่ก็มาเยือนเราทุกวัน

 

                                                                                    คุรุอตีศะ

                                                                            ๒  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖