จิตที่พบความอิสระ
- รายละเอียด
- หมวด: LanDharma
จิตที่พบความอิสระ
พระอริยเจ้าท่านพร่ำสอนคอยให้สติตักเตือนเราทั้งหลายว่าการเป็นคนดีมีศีลธรรม ตั้งใจทำมาหากิน ไม่เบียดเบียนใครเพียงแค่นั้นยังไม่เพียงพอ
ก็เพราะว่าคนดีในสังคมของโลกปุถุชนนั้น ล้วนเป็นที่ยอมรับหรือได้ชื่อว่าเป็นคนดีจากการเก็บกดอารมณ์ เกิดจากการสะกดกลั้นกิเลส ยังไม่เป็นอริยมรรค
เป็นสุภาพบุรุษ ก็เพราะบังคับกดข่มอารมณ์ตัวเอง
เป็นกุลสตรี ก็เพราะต้องคอยควบคุม สะกดกลั้นอารมณ์ตัวเองไว้
หากยังคงรักษาความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นกุลสตรีเพียงแค่นั้น ไม่เจริญสติ ไม่ภาวนาจนรู้ใจตัวเอง
วันหนึ่งร่างกายจิตใจอ่อนแอลง เราจะควบคุมอะไรไม่ได้ จะกลายเป็นคนเสียคน บางคนจะกลายเป็นคนละคนไปเลย
ในขณะที่คนที่เขาทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของเรา อยากทำอะไรเขาก็ทำ กลับลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมอย่างสบาย เราก็จะยิ่งช้ำใจ
ดังนั้น เมื่อเราได้ใช้ชีวิตในกรอบของศีลธรรม ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ขั้นตอนต่อไปเราต้องพัฒนาจิตใจตัวเองสู่ความเป็นอริยะ
มิฉะนั้น เราอาจกลายเป็นคนเสียคนในยามอายุมากขึ้นหรือเมื่อทนไม่ไหวอีกต่อไป
เพราะมีความเก็บกด ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกทรยศ ถูกหักหลัง ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือได้รับแต่ความอยุติธรรม
การปฏิบัติธรรมจริง ๆ แล้วก็คือการรีบยกตัวเองออกจากคนดีแบบปุถุชน ขึ้นไปสู่ความเป็นอริยบุคคลก่อนที่อะไรจะสายเกินไป
คำว่า "สายเกินไป" ก็คือจากที่เราเคยได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นสุภาพบุรุษ เป็นกุลสตรีที่เราภาคภูมิใจมาตลอด เมื่อเราพลาดพลั้งขึ้นมา ทุกคนจะรุมด่ารุมว่าเราเป็นคนไม่ดี (เพราะทุกคนจะอิจฉาริษยารอจ้องจะเห็นความพลาดพลั้งของเราอยู่ตลอดเวลา)
ธรรมดาใจของปุถุชนนั้นไม่อยากให้ใครดีกว่าตน ยิ่งวันใดบุคคลนั้นกลายเป็นคนชั่วคนเลว จะพากันสะใจ สบายใจ
ดังนั้น พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ท่านจึงพร่ำเตือนสติแก่ผู้ที่รักษาตนไว้ดีมาตลอดว่าไม่ให้ประมาท
ให้รีบบำเพ็ญทาน ให้หาโอกาสบำเพ็ญศีล หมั่นรักษาจิตเจริญภาวนา
เพราะว่าเมื่อใดดวงจิตก้าวสู่ภูมิอริยะ เราจะไม่ต้องแบกภาระทางจิตใจกับปุถุชนอีก
ไม่วิตกทุกข์ร้อนกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของใคร ไม่สนใจว่าจะเป็นที่ยอมรับของใคร
ใครจะว่าเราดีก็ได้ ใครจะว่าเราชั่วก็ได้อีก แต่ใจภายในยังเข้าใจและมีความสุขกับการมีสติ คิดเกื้อกูลช่วยเหลือไปในแต่ละวัน
อย่างนี้ต่างหากเราจึงจะรอดปลอดภัย
การเป็นอริยะนั้นเหนือไปกว่าการเป็นคนดี เหนือขึ้นไปกว่าการเป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรี
จิตแบบนี้เท่านั้นจึงจะพบความเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง
ไม่ต้องคอยควบคุม กดข่ม สะกดกลั้น หรือบังคับให้ตนเองเป็นคนดีเพื่อให้ใครยอมรับหรือเอาใจสังคมอีก
สภาวะจิตเช่นนี้แหละที่ท่านเรียกว่า"พุทธภาวะ" คือความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ก็คือพระธรรมอันประเสริฐนี้
คุรุอตีศะ
๒๕ มีนาคม ๒๕๖๘