หลวงพ่อมิตซูโอะ

หลวงพ่อมิตซูโอะ


              ได้ทราบข่าวเรื่องหลวงพ่อมิตซูโอะ คเวสโก ผู้บุกเบิกและเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งเป็นสาขาที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง ได้ลาสิกขาและทิ้งปมปริศนาไว้ให้เหล่าศิษย์และผู้คนได้วิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา


                  ในฐานะที่มีความเคารพท่านแม้จะไม่เคยรู้จักในทางส่วนตัว และในฐานะที่เคยได้สัมผัสวัดหนองป่าพงมาก่อนเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น แม้เมื่อตอนอุปสมบทจะไม่ได้อยู่ในฐานะศิษย์วัดหนองป่าพง  ก็อยากกล่าวถึงหลวงพ่อมิตซูโอะตามความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง อย่างน้อยก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่ง นอกเหนือไปจากที่ใครๆต่างพากันวิจัยวิจารณ์  หากความคิดเห็นและคำวิจารณ์นี้จะมีสิ่งใดผิดพลาดหรือล่วงเกินต่อท่านหลวงพ่อมิตซูโอะ หรือกระทบต่อบุคคลใด  ก็ใคร่ขอขมากรรมไว้เป็นการล่วงหน้า ณ  ที่นี้


                  หลวงพ่อมิตซูโอะ  คเวสโก  ท่านมีชื่อเดิมว่า “มิตซูโอะ  ชิบาฮาชิ”  เป็นชาวจังหวัดอิวะเตะ ประเทศญี่ปุ่น  เกิดเมื่อวันที่  ๒๘  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๙๔  สำเร็จการศึกษาในระดับไฮสคูล (เทียบเท่าระดับ ปวช.หรือ ม.ศ. ๕ ตามระบบการศึกษาไทย) สาขาเคมี  เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วทำงานจนสามารถเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง ก็ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆทั่วโลก เพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔


                  หลังจากได้เดินทางแสวงหาธรรมะที่แท้จริงมาแล้วจากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งอินเดีย เนปาล อิหร่าน ยุโรป  กำลังจะไปแอฟริกา ก็เปลี่ยนความตั้งใจเมื่อได้เดินทางกลับไปอินเดียอีกครั้ง เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปที่พุทธคยา  ก็ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าและประจักษ์แก่ใจของตนเองว่า แท้จริงแล้ว ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่จิตใจภายในตนเอง จึงหยุดการแสวงหาจากภายนอก สู่การแสวงหาภายใน


                  ในตอนแรกท่านได้ไปฝึกโยคะอยู่ที่สำนักโยคีแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย และเกิดความพอใจที่จะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดียไปจนตลอดชีวิต แต่ต่อมาเกิดปัญหาว่าวีซ่าของท่านหมดอายุ ท่านจึงเดินทางมาประเทศไทย เพราะมีผู้แนะนำให้ไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ  หลังจากบรรพชาได้ ๓ เดือน  ได้แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม มีผู้แนะนำให้ท่านไปกราบหลวงพ่อชา สุภทฺโท  ที่จังหวัดอุบลราชธานี  และท่านก็ได้กลายเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของหลวงพ่อชาสุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานีนับแต่บัดนั้น  ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้รับฉายาว่า “คเวสโก” แปลว่า “ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง”


                  ชีวิตของคนๆหนึ่งที่ออกแสวงหาฝั่งหรือความหมายของชีวิต ตั้งแต่วัยรุ่นอายุเพียงยี่สิบปี จนบัดนี้ท่านมีอายุได้ ๖๒ ปีแล้ว  สี่สิบกว่าปีย่อมเพียงพอแล้วกับการแสวงหา และท่านคงพบแล้วว่า”ฝั่ง”ที่ท่านแสวงหาตลอดมานั้นคืออะไร  


                 สำหรับผู้ที่ท่านถึงฝั่ง  ท่านย่อมคิดและมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือน”ผู้ที่ยังเลาะริมฝั่งนี้”อยู่เป็นแน่ ผู้ที่ยังพอใจที่จะยังวิ่งเลาะริมฝั่ง ย่อมจำนนต่อลาภสักการะ ชื่อเสียง และการยกย่องเทิดทูนบูชา ส่วนผู้ที่ท่านว่ายน้ำจนข้ามไปถึงฝั่งโน้นได้ ท่านย่อมไม่มีความยินดีอาลัยต่อชื่อเสียง ความยกย่อง หรือความมีบริวารอีกแล้ว


                 ชีวิตของปุถุชน ย่อมยินดีและสาละวนในลาภสักการะ ตำแหน่งหน้าที่และชื่อเสียงเป็นธรรมดา  ส่วนผู้ที่แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานหรือสัจธรรมของชีวิตนั้น  สิ่งเหล่านั้นย่อมไม่มีความหมายต่อหัวใจของท่านเลย  ถ้าท่านจะยังพอมีโอกาสช่วยเหลือเกื้อกูลได้ ด้วยพลังแห่งเมตตาที่มีอยู่ ท่านก็อนุเคราะห์เกื้อกูลไป หากเห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา หรือเห็นว่าอนุเคราะห์ไปก็เท่านั้น  ท่านก็อาจเกษียณตัวเองอยู่อย่างสบายใจในที่ใครๆไม่รู้จักก็ได้  และสำหรับผู้ที่มีธรรมแท้ในดวงใจและเข้าใจจิตเดิมแท้ ย่อมอยู่เหนือความเป็นพระหรือเป็นฆราวาส นี้คือสิ่งที่เรียกว่า อปฺปเมยฺโย คือ การที่ใครๆไม่อาจประมาณหรือประเมินได้


                วิถีของอริยะย่อมเหนือความเป็นพระ เหนือความเป็นคน  ขึ้นชื่อว่าผู้ที่เข้าถึงธรรมภายใน จะยังครองจีวรหรือมีคนเอากางเกงมาบังคับให้ท่านสวมใส่ ความสดใสแห่งดวงใจและความบริสุทธิ์สะอาดย่อมไม่มีสิ่งใดมาแผ้วพานได้อีกเลย ท่านจึงว่า สำหรับปุถุชน หากไม่ได้ปลงผม ห่มจีวร และอุปสมบทตามพุทธบัญญัติ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นพระหรือภิกษุ  แต่สำหรับพระอริยบุคคลผู้เข้าถึงธรรม จีวรเป็นเพียงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักตามสมมุติว่าเป็นพระเท่านั้น หากมีเหตุปัจจัยบีบบังคับที่ไม่อาจครองจีวรได้ตามวิสัยปกติ  แม้ไปใส่อย่างอื่นที่พอปกปิดร่างกายได้ ความเป็นพระของท่านก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม


                หลวงพ่อมิตซูโอะท่านได้ทำประโยชน์ต่อโลกและผู้คนได้อย่างกว้างขวาง ยากนักที่ใครๆจะทำได้เหมือนท่าน  ตอนที่ท่านจากประเทศญี่ปุ่นมาเมื่ออายุยี่สิบปี  ท่านก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าท่านจะกลายเป็นพระที่มีชื่อเสียงและมีโอกาสทำคุณประโยชน์ต่อผู้คนได้เพียงนี้ ดังนั้นอายุหกสิบสองปี ก็น่าจะพอสมควรแล้วกับการต้องมาคอยนั่งรับแขกต้อนรับผู้คนและญาติโยม และตามระบบชีวิตของโยคีหรือการปฏิบัติธรรมในอินเดีย การย่างเข้าสู่วัยอายุหกสิบสามปี คือการหยุดทุกสิ่งที่เป็นภาระเพื่ออยู่กับความสงบ เป็นเวลาแห่งการดื่มด่ำกับสมาธิอันเปี่ยมล้น  ซึ่งถ้ายังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้คน จะปฏิบัติตัวหลีกเร้นอยู่กับความวิเวกอิสระอย่างนั้นไม่ได้


                 สำหรับคนทั่วไป ย่อมเสียใจและเสียดายที่ท่านจากไปแบบมีข่าวว่าลาสิกขา โดยอาจคิดในแง่ว่าจะเป็นไปในทางเสียหาย แต่หากคิดในอีกแง่มุมหนึ่ง สำหรับท่านที่มีบุญบารมีในทางธรรมและมีคุณธรรมถึงเพียงนี้  บางทีกระแสข่าวการลาสิกขาอาจเป็นเพียงวิธีการหนึ่งของผู้ที่จิตใจยืนอยู่เหนือโลกนำมาใช้เพื่อเป็นทางออกที่เด็ดขาดและแยบคายที่สุดก็เป็นได้  การกลับสู่บ้านเกิดเพื่ออยู่เงียบๆในบั้นปลาย ย่อมคือความผาสุกอันหาได้ยากที่ใครจะได้พบ สำหรับผู้ที่ผ่านการมีชื่อเสียง มีบริวารและลาภสักการะที่มากมาย ซึ่งคนที่ยังไม่มีชื่อเสียง ยังไม่มีบริวาร ยังไม่เต็มอิ่มในตำแหน่ง อำนาจ หรือลาภสักการะ ย่อมไม่มีวันเข้าใจได้ เหมือนปลาที่ว่าย อยู่ในน้ำ ย่อมไม่มีทางเข้าใจว่าเหตุใดนกจึงบินไปในอากาศฉะนั้น


                 วิธีการที่เด็ดขาดเหนือความคาดหมายของชาวโลกนี้ จะปรากฏเป็นเรื่องธรรมดาตาม พระพุทธศาสนาแบบเซน เหมือนอย่างท่านอาจารย์โตซุย ปรมาจารย์สำคัญองค์หนึ่ง ท่านได้พลิกชีวิตที่มีแต่คนกราบไหว้แตกตื่นมาหาท่าน เมื่อท่านมองเห็นว่าผู้คนทั้งหลายที่มานั้นแทบจะหาคนต้องการธรรมะจริงแทบไม่ได้  ที่พากันมาก็เพราะเขาร่ำลือว่าท่านเป็นพระอรหันต์เลยพากันแตกตื่นต่างหาก ท่านจึงประกาศยุติการสอนการเทศน์ทุกอย่าง แล้วหลบหนีหายไป  พอสามปีผ่านไปมีลูกศิษย์ไปพบท่านใช้ชีวิตอยู่กับคนขอทานอย่างสบายอกสบายใจ  เรื่องนี้หลวงพ่อพุทธทาสก็เคยเล่าไว้ในนิทานเซน  ซึ่งหลายคนอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง ว่าพระอรหันต์ทำไมต้องไปทำตัวแบบนั้น เพราะบ้านเรามีแต่การยึดติดในรูปแบบและพิธีกรรม จนลืมไปว่าผู้ที่เข้าถึงธรรมหรือผู้ที่มีจิตยืนอยู่เหนือโลกนั้น จิตใจของท่านย่อมต่างจากพระปุถุชนหรือคนธรรมดามากนัก


                 หลวงพ่อมิตซูโอะท่านอาจใช้วิธีการเกษียณตัวเองแบบท่านอาจารย์โตซุย ปรมาจารย์องค์สำคัญของญี่ปุ่นในอดีตก็ได้  เพียงแต่อาจไม่ต้องถึงขั้นต้องลดตัวลงไปอยู่กับคนขอทาน  เพราะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านั้นสำหรับสมัยนี้ โดยท่านอาจหลบไปอยู่บ้านเกิด ใช้ชีวิตแบบดาบสโยคีที่อิสระ หรืออยู่กับสมาบัติอย่างสบาย  เพราะใครๆต่างก็หมดเยื่อใยว่าท่านไม่เป็นพระอีกแล้ว  ไม่ต้องมาวุ่นวายกับกิจกรรมหรือภาระอะไรต่างๆ


                 แสดงธรรมก็ทำมามากแล้ว  สอนคนก็สอนมาพอแล้ว  ดำรงตนอย่างเคร่งครัดตามวิสัยของพระป่าก็ทำมาจนอายุหกสิบแล้ว  ชีวิตที่เหลืออยู่ขอทำอะไรเพื่อเป็นรางวัลให้แก่ชีวิตตนเองบ้าง ที่รูปแบบความเป็นพระในเมืองไทยไม่เป็นอุปสรรค  แล้วชีวิตของผู้ที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งใหญ่อย่างหลวงพ่อมิตซูโอะจะต้องการอะไร นอกจากต้องการอยู่คนเดียวเงียบๆตามลำพัง เพราะนั่นคือความสุขในชีวิตของผู้ถึงฝั่งอย่างแท้จริง


คุรุอตีศะ
๑๑  มิถุนายน  ๒๕๕๖