ศาสนาคือที่พึ่งพำนัก

ศาสนาคือที่พึ่งพำนัก


                      พวกเราทั้งหลายกำลังอยู่ในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่าน  อะไรหลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนไป และไม่เหมือนเดิม สิ่งที่เราเคยชินและเคยยึดมั่นว่าเป็นสิ่งที่ดีงามและถูกต้องในสังคม มาเป็นเวลาห้าสิบหกสิบปี กำลังถูกกฎแห่งอนิจจังท้าทายและกำลังเดินสู่ความเปลี่ยนแปลง


                      ในยุคสมัยที่ผ่านมา คนในประเทศสยามนับแต่มีการเปลี่ยนการเรียกชื่อประเทศจาก “ประเทศสยาม”ที่ใช้มาตลอดตั้งแต่โบราณ ก็เปลี่ยนเป็นว่า “ประเทศไทย” ตั้งแต่นั้นวิถีชีวิตของคนในสยามก็เริ่มเอาแบบอย่างตะวันตกเป็นหลัก จากเคยใช้หมากพลูเป็นธรรมเนียมในการต้อนรับแขกผู้มาเยี่ยมเยือนบ้านเรือน ก็กลายเป็นเอาสุราและบุหรี่เป็นเครื่องต้อนรับขับสู้ เลียนแบบตะวันตกซึ่งมีอากาศหนาวมาก ชาวบ้านที่ไม่มีกำลังเงินทองแบบชนชั้นสูงที่สามารถหาเหล้านอกและบรั่นดีมาบริโภคได้อย่างสบาย ก็หาวิธีต้มและกลั่นเหล้า ทำอุ กระแช่ หรือสาโทกินกันไปพอได้ครึกครื้นตามฐานะและอยู่กันอย่างพอเพียง จากรำวงและการเล่นพื้นบ้าน ก็มีการลีลาศถูกเนื้อต้องตัวกันโดยเรียกว่า “เป็นเต้นรำชั้นสูง” จากนั้นยุคสมัยที่เคยอยู่กันอย่างพอเพียงและมีจิตใจที่ดีงามตามครรลองวิถีของพระพุทธศาสนา ก็กลายเป็นว่า คนเหล่านั้นเป็นชนชั้นต่ำ ชาวบ้านผู้ที่ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยคือคนล้าหลัง คนไปวัดทำบุญคือคนคร่ำครึ  แต่คนที่ทำตามแบบอย่างตะวันตกได้มากเท่าไหร่คือชนชั้นสูง นั่นคือยุคสมัยแห่งถิ่นกาขาวที่เราอยู่กันมา


                    “ยุคถิ่นกาขาว” นอกจากจะหมายถึง การที่ประเทศสยามอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ และแนวคิดแบบตะวันตกอย่างที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปแล้ว  ยังหมายถึงว่า การที่ผู้คนหลงยกย่องคนผิดหรือหลงยกย่องบูชาสิ่งผิดอีกด้วย เปรียบเสมือน การหลงยกย่องสัตว์ชนิดหนึ่งที่ภายนอกดูมีสีขาวโดยเข้าใจว่าเป็นหงส์ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่แท้จริงแล้วคือกาเท่านั้น


                   การยกย่องกาโดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหงส์นี้ ตีความได้มากมายหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เรายกย่องคนมีเงินทองมากกว่าคนที่มีศีลธรรมที่สมถะสันโดษ เราเอาเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการหาทรัพย์สินเงินทองเป็นเรื่องยิ่งใหญ่กว่าศาสนาและการมีคุณธรรมภายใน เรามักยกย่องข้าราชการหรือนักการเมืองหรือเศรษฐีมากกว่าจะยกย่องพระสงฆ์ผู้ทรงศีลหรือนักปฏิบัติธรรม  เราเข้าใจว่าชีวิตในอารามหรือในวัดคือชีวิตที่ต่ำต้อย และนึกดูหมิ่นเหยียดหยามอยู่ในใจ ทั้งที่แต่เดิมมาผู้อยู่ในอารามทั้งหลายส่วนใหญ่ มาจากผู้ก้าวพ้นจากเปือกตมทั้งหลายคือพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคลเท่านั้น จึงจะมีบุญบารมีพอที่จะอยู่ได้ มิใช่ดินแดนที่คนทั่วไปจะอยู่อาศัยได้โดยง่าย  ยุคถิ่นกาขาวที่ผู้คนเอาเงินทอง อำนาจ และสิ่งภายนอกยิ่งกว่าศาสนาและคุณธรรมภายในนี้กำลังจะผ่านไป


                  ในคำทำนายของนอสตราดามุสบทหนึ่ง กล่าวถึงยุคสมัยที่ผู้คนไร้ศีลธรรมและต้องเผชิญต่อภัยพิบัติต้องประสบกับความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสว่า “แม้แต่คนไม่เชื่อศาสนา ยังพร่ำหาพระเจ้าและนักบุญ” คำทำนายนี้สามารถเป็นเครื่องเตือนสติได้กับคนทั้งโลกไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนาใด


                  เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา คนทั้งโลกตื่นเต้นและหวาดหวั่นกันว่าจะเป็นวันสิ้นโลก อันเป็นความเชื่อของลัทธิและศาสนาอื่น แต่ในที่สุดทุกอย่างก็ผ่านพ้นไป และคนทั่วไปก็พูดกันว่าเป็นความหลอกลวง  แต่ความเป็นจริงนั้นในทางพระพุทธศาสนาไม่เคยบอกว่าเราจะมีวันสิ้นโลก แต่คือการสิ้นยุคหรือวันพิพากษาตามความเชื่อในศาสนาอื่นต่างหาก  แต่เราก็สามารถถือเอาประโยชน์จากเหตุการณ์นี้


                 วันสิ้นยุคสำหรับคำทำนายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) ก็คือสิ้นยุคถิ่นกาขาว อันหมายความว่า ใครก็ตามที่เคยเอาเรื่องประกอบอาชีพ การหาและสะสมทรัพย์สินเงินทอง หรือการแสงหาอำนาจเกียรติยศชื่อเสียงยิ่งกว่าศาสนาได้หมดยุคแล้ว กำลังเริ่มต้นสู่ยุคใหม่คือ “ยุคชาวศิวิไลซ์”


                  หากใครยังดันทุรังยังถือดี ยึดมั่นเอาสิ่งเหล่านั้นเหนือศาสนาหรือความสุขอันแท้จริงที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน จะต้องประสบปัญหาชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะหมดยุคที่จะถือค่านิยมแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว  ต่อให้บุคคลนั้นประสบความสำเร็จด้วยกิน กาม เกียรติมามากมาย ก็จะต้องถึงคราวสูญเสียความมั่นใจในตนเองด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว  


                  เราทั้งหลายได้พากันนิยมยกย่องและบูชากา โดยเข้าใจว่าเป็นหงส์มาเกือบศตวรรษ เมื่อสิ้นยุคถิ่นกาขาวแล้ว เราควรต้อนรับความเปลี่ยนแปลงที่ย่างกรายมาสู่ชีวิตของเราในขณะนี้  ขอให้เราทั้งหลายอย่าได้ลังเลในการที่จะเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง หมดยุคแล้วที่จะเอาอำนาจวาสนา หรือทรัพย์สินและสิ่งต่างๆภายนอกมาเป็นที่พึ่ง ผู้ใดรีบเอาศาสนาและคุณธรรมเป็นที่พึ่งในภายใน ผู้นั้นจะรอดพ้นอันตราย


                 การมีศาสนาเป็นที่พึ่งนี้ หมายถึงเส้นทางแห่งอริยมรรค อันนำไปสู่ความรู้แจ้งในสัจธรรมความจริงของชีวิต ไม่ใช่ความงมงายหรือการตกเป็นทาสของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่คือการศึกษาและปฏิบัติให้เข้าถึงคำสอนอันบริสุทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


                 ศาสนาอันบริสุทธิ์คือที่พึ่งพำนักของสัตว์โลก สามารถดับความทุกข์ ดับความเศร้าโศกและความคับแค้นใจทั้งหลาย ผู้ที่มีศาสนาเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง จะพบชีวิตที่อิสระและเบิกบาน ไม่รู้สึกว่าชีวิตต้องตกเป็นทาสของสิ่งใด แต่มีสติปัญญาดำเนินชีวิตไปอย่างเป็นธรรมชาติสงบและมั่นคง ถึงเวลาแล้วที่เราจะถือเอาสิ่งที่มีค่าที่สุดในการได้เกิดมาชาตินี้                  


๒๙  พฤษภาคม  ๒๕๕๖