ไตรสิกขา

ไตรสิกขา

 

                    หลักการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้นตามแนวอริยะสัจ ๔ ของพระพุทธศาสนา ท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หลักไตรสิกขา” คือ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา สำหรับจิตตสิกขานั้นก็คือ การบำเพ็ญสมาธิ เราจึงมักได้ยินกันจนชินหูตลอดมาว่า “ไตรสิกขาได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา”


                    การปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา ต้องดำเนินไปตามลำดับขั้น คือ ศีลเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น เมื่อมีศีลคือการสำรวมระวังจะทำให้เกิดสติ  ย่อมทำให้ผู้นั้นเกิดสมาธิ คือความสงบมั่นคงแห่งดวงจิตตามมา เมื่อจิตมีความตั้งมั่นเป็นสมาธิย่อมเกิดปัญญา ศีลจึงเป็นเบื้องต้น สมาธิเป็นท่ามกลาง และปัญญาคือขั้นสูงสุด นี่คือทฤษฎีหรือหลักแห่งไตรสิกขา ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุพระนิพพาน คือความหลุดพ้นจากความทุกข์ สะอาด สว่าง สงบ พบความบริสุทธิ์แห่งดวงจิต  พ้นจากความทุกข์ความเศร้าหมอง พ้นจากอาสวกิเลสความเศร้าหมองใดๆโดยสิ้นเชิง


                    การปฏิบัติไตรสิกขาจึงต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนบริบูรณ์ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติจึงจะเกิดผลจริงและเข้าถึงสภาวะแห่งพระนิพพาน สะอาด สว่าง สงบ


                    หากบุคคลใดปฏิบัติยึดมั่นอยู่เพียงแค่ศีลหรือพระวินัย โดยขาดปัญญาที่แยบคาย บุคคลนั้นจะยึดมั่นในศีลจนกลายเป็นความสุดโต่ง จะส่งผลให้ชีวิตเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด  มีจิตใจโน้มไปในทางก้าวร้าวรุนแรง มุ่งคอยจับผิดคนอื่น เป็นสีลัพพตปรามาสโดยไม่รู้ตัว การเคร่งครัดในศีลหรือพระวินัย  จึงต้องมีปัญญาที่แยบคายกำกับ จิตจึงจะเกิดความนุ่มนวลอ่อนโยน มีความพอดี  จึงจะดำเนินจิตไปสู่ความเป็นผู้มีสมาธิ มีความรู้ ตื่น และเบิกบาน


                    หากบุคคลใดปฏิบัติติดอยู่ในขั้นของสมาธิ ขึ้นไม่ถึงขั้นแห่งปัญญาทางธรรม ก็จะยึดติดกับความสุขจากสมาธิ จะเกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นหมู่คณะไม่สนใจคนอื่นหรือคณะอื่น บางทีก็ยกตนข่มผู้อื่น ว่าเฉพาะพวกของตนเท่านั้นประเสริฐกว่าพวกอื่น  เพราะอำนาจของสมาธิจะทำให้เกิดอีโก้หลงติดในความสุข และสนใจแค่หมู่คณะหรือกลุ่มก้อนพรรคพวกของตัวเอง  เพราะคนที่ชอบอยู่กับสมาธิ  จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จะรู้สึกว่าตัวเองสูงส่งหรือยิ่งใหญ่กว่าผู้ใด


                   หากบุคคลใดเอาแต่ปัญญา ไม่สนใจในศีลและสมาธิก็จะเป็นเข็มที่แหลมคม แต่เปราะบาง หักหรือทำลายได้ง่าย คนมีปัญญาแต่ขาดการมองเห็นความสำคัญของศีล จะทำให้เป็นคนที่ขาดวินัยในการใช้ชีวิต มักพาคนหลงผิดกลายเป็นมิจฉาทิฐิ  เอาแต่ความถูกความผิดของตนเองเป็นหลัก สุดท้ายจะกลายเป็นล้มเหลว เนื่องจากขาดความหนักแน่นมั่นคงของดวงจิต


                    คนมีปัญญาแต่ขาดสมาธิ จิตใจจะฟุ้งซ่าน ติดไปในทางนักวิจัยวิจารณ์  นักคิด นักปรัชญา นักวิชาการ ส่วนใหญ่จะติดทฤษฎีแต่เข้าไม่ถึงตัวปฏิบัติหรือสภาวะที่แท้จริง จึงทำให้จิตใจไม่ค่อยสงบสุข คือเป็นพวกประเภทมีความสำเร็จแต่ขาดความสุข  แต่เมื่อใดมีศีลมีสมาธิกำกับ จะเกิดความแตกฉานในชีวิตและหลักธรรม จะเป็นที่พึ่งของผู้คนได้อย่างกว้างขวาง


                   ดังนั้น ท่านจึงสอนเหล่าพุทธบริษัท ให้มี ศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมบริบูรณ์ ไม่ติดอยู่เพียงแค่ความเคร่งครัดในศีล ไม่ติดอยู่แค่ความสงบในสมาธิ และไม่หลงทะนงตนในความมีปัญญาของตน จิตจึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้


                    แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็กล่าวไว้อีกว่า พระโสดาบันบุคคล เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีล พระอนาคามีเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสมาธิ ส่วนพระอรหันต์เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยปัญญา
    ดังนั้น เมื่อว่าถึงขั้นสูงสุดแห่งการประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ผู้บริบูรณ์ด้วยไตรสิกขาที่แท้จริงสูงสุด จึงได้แก่พระอรหันต์


                    พระอรหันต์เป็นผู้ไม่ติดในศีล ไม่ติดในสมาธิ และสุดท้ายก็ไม่ยึดติดแม้แต่กระทั่งตัวปัญญา เข้าถึงความว่างอันบริสุทธิ์ จึงเรียกว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา


                   นับแต่วันตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้แสดงธรรมประกาศอริยสัจ๔  คำสอนของพระองค์คือ อริยมรรคมีองค์ ๘  อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ย่อลงเป็นไตรสิกขา ไตรสิกขาเมื่อย่อลงไปอีก กลายเป็นสมถะและวิปัสสนา และสุดท้ายคำว่า “สมถะและวิปัสสนา” ย่อลงเหลือแค่คำว่า “สติ” ตัวเดียว


                   การปฏิบัติตามแนวไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญานี้ เป็นหลักปฏิบัติเพื่อสู่ความหลุดพ้น ซึ่งเป็นคำสอนหลักของฝ่ายเถรวาท การปฏิบัติตามหลัก ศีล  สมาธิ ปัญญา จึงเป็นข้อปฏิบัติของบรรพชิต คือ ผู้ออกบวชละเพศของฆราวาสแล้วโดยตรง


                   ส่วนผู้ที่ยังใช้ชีวิตฆราวาสครองเรือน ต้องประกอบอาชีพ ท่านให้ดำเนินตามแนว ทาน ศีล ภาวนา คือ หมั่นบริจาคทานเพื่อละมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่เหนี่ยวแน่น เห็นแก่ตัวในดวงจิต มีศีล ๕ เพื่อความปกติร่มเย็นในชีวิต แล้วหมั่นฟังธรรมเพื่อให้เกิดปัญญาตามลำดับ


                    ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเส้นทางของบรรพชิต ซึ่งอุดมการณ์สูงสุดของการออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ก็คือมุ่งสู่ความหลุดพ้นขั้นสูงสุด คือความเป็นพระอรหันต์


                    แต่สำหรับแนวทางของ ทาน ศีล ภาวนา เป็นหลักปฏิบัติเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในชีวิตครองเรือน ไปตามฐานะที่ตนพึงมีในฐานะฆราวาส เมื่อเจริญสติไปพร้อมกับบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา จะทำให้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลแม้อยู่ท่ามกลางการครองเรือน


                     สรุปได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแนวทางของบรรพชิต มุ่งสู่ความหลุดพ้น เพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์  ส่วน ทาน ศีล ภาวนา เป็นวิธีปฏิบัติหรือวิถีชีวิตของผู้ครองเรือนควรบำเพ็ญ เพื่อความสุขในชีวิตการครองเรือนและเพื่อการเจริญสติเพิ่มพูน จะทำให้บรรลุพระโสดาบันโดยไม่ต้องนั่งสมาธิแบบชีวิตของบรรพชิตผู้ไม่มีอาชีพการงาน จึงไม่จำเป็นต้องสละการครองเรือน หรือละกามหยาบออกไป   หรือสละทางโลกแบบชีวิตของพระภิกษุแต่อย่างใด


                   ไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยหลักการแล้ว ต้องละกามหยาบจึงจะดำเนินจิตได้ผล   ส่วนทาน ศีล ภาวนานั้น สามารถปฏิบัติได้แม้ท่ามกลางการครองเรือนแบบคนทั่วไป


                    การปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ท่านจะเน้นการสำรวมเคร่งครัดในศีลคือพระวินัย อันจะเป็นบาทฐานนำไปสู่การบรรลุสมาธิ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องละกาม ออกบวชสู่เพศบรรพชิต จึงจะมีโอกาสบรรลุสมาธิดังกล่าว


                    ส่วนการปฏิบัติตามแนว ทาน ศีล ภาวนา เป็นวิธีปฏิบัติสำหรับฆราวาส ผู้ปฏิบัติธรรมไม่จำเป็นต้องละกาม เพียงดำรงตนอยู่ในศีล ๕ แล้วหมั่นอุทิศตนเสียสละเพื่อสร้างกุศลบารมีตามฐานะของตน แล้วภาวนาด้วยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน การภาวนาของฆราวาสก็คือ การประครองจิตให้อยู่ในครรลองของกุศล ให้ใจอยู่กับการสร้างบุญสร้างกุศลสร้างบารมี  มีดวงจิตมั่นคงอยู่กับพระรัตนตรัย  พูดภาษาสมัยใหม่ก็คือ ให้คิดในแง่บวกหรือในแง่ดีไว้เสมอนั่นเอง


                    ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแนวทางสู่ความหลุดพ้น เป็นเส้นทางของผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตหรือชีวิตของพระภิกษุโดยตรง  ส่วนทาน ศีล ภาวนา เป็นการปฏิบัติและใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมในฐานะผู้ครองเรือนที่ยังมีการประกอบอาชีพ มีสามีภรรยา ไม่จำเป็นต้องละกามหยาบแบบชีวิตของพระภิกษุ


                    ความสุขของพระภิกษุหรือบรรพชิต คือ ความสงบวิเวก ไม่คลุกคลีกับผู้คนหรือสังคม  มีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ส่วนความสุขของฆราวาสผู้ครองเรือน คือ ความรักความอบอุ่น ความสุขจากกามารมณ์  เป็นการใช้ชีวิตตามความจริงอันเหมาะสมตามเพศและภาวะของตน โดยไม่กดดันหรือเคร่งเครียดในเรื่องทางเพศ  เป็นวิถีชีวิตที่มีความสุขท่ามกลางการครองเรือนคือ มีสามีภรรยาแล้วดำเนินชีวิตตามปกติ ทำทานสร้างกุศล หมั่นฟังธรรมให้เกิดปัญญาแล้วเจริญสติภาวนา ก็จะทำให้เข้าถึงมรรคผลปิดประตูอบายภูมิได้อย่างเด็ดขาด


                    การปฏิบัติธรรมเช่นนี้   เป็นวิถีชีวิตของคนไทยในยุคก่อน ซึ่งส่งผลให้เป็นคนใจดีมีเมตตา มองคนในแง่ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ซึ่งทำให้ชาวตะวันตกขนานนามว่า “สยามเมืองยิ้ม” เรียกว่าวิถีชีวิตแห่งการเจริญสติปัฏฐาน  ก่อนที่สังคมไทยจะเปลี่ยนจากวัฒนธรรมสติปัฏฐาน คือการทำอะไรด้วยความมีสติ มาเป็นวิถีชีวิตแบบวัฒนธรรมตะวันตกเมื่อประมาณ ๕๐ ปีมานี้


                     ชีวิตของเพศบรรพชิต ต้องดำเนินไปบนเส้นทาง ศีล สมาธิ ปัญญา  ส่วนฆราวาสต้องใช้แนวทาง ทาน ศีล ภาวนา เพราะหัวใจยังต้องอาศัยความรัก ความอบอุ่น ต้องอาศัยการปรับตัวให้สอดคล้องกับสังคมในการดำเนินชีวิต  เป็นเส้นทางนำไปสู่ชีวิตของพระโสดาบันบุคคล อันจะส่งผลให้สามารถปิดอบายภูมิได้อย่างเด็ดขาดในปัจจุบันชาตินี้แล ฯ

 

 

                                                                       คุรุอตีศะ
                                                                ๖  มกราคม  ๒๕๕๙